
คำถามมากมายถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างผลสะเทือนทุกมิติของสังคม เมื่อการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งประโยชน์และปัญหา หากไม่มีการปรับตัวเท่าทันสถานการณ์ สังคมจึงต้องตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุคใหม่ โดยอาศัยหลักนิติธรรมที่สัมพันธ์กันและไม่เป็นอุปสรรคต่อกัน
คำตอบของคำถามเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกคลี่หลายออกมาเป็นระยะ ๆ มาแล้ว ทั้งผ่านสภา หรือคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และวันนี้นับเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะไขข้อข้องใจกับคำถามที่ว่า ไทยจะรับมือต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไปอย่างรวดเร็วได้หรือไม่ บนเวทีเสวนาระดับชาติ ‘Better Thailand ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม’ ซึ่งจัดครั้งแรกของเมืองไทย ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 ที่สยามพารากอน โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอร์รัปชันทันที’ ชูประเด็นกฎหมายต้องสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างประเทศให้ก้าวหน้ากว่าเดิม
- เปิดตัว “คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ” ห่างสนามบิน 10 นาที
- พระราชินี เสด็จฯ ส่วนพระองค์ ทรงร่วมวิ่ง CIB RUN 2023 ระยะทาง 10 กิโลเมตร
- พระราชินี ทรงนำทีมแข่งขันเรือใบนานาชาติ เข้าเส้นชัยอันดับ 1
ต้องแก้ไข เพื่อ ‘Better Thailand’
บนเวทีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา รองนายกฯ กล่าวว่า ในชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต มีความจำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ อันหมายถึงหน่วยงานราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอยู่กว่า 2.5 ล้านคน ในขณะที่ระบบราชการมีการบังคับใช้กฎหมายกว่า 500 ฉบับ และเมื่อรวมกฎหมายลูกต่างๆ แล้ว มีมากกว่าหมื่นฉบับ ซึ่งหลายฉบับประกาศใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหลายมิติ ทั้งในแง่ความซ้ำซ้อน เข้าใจยาก และล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่เจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน ไม่สามารถครอบคลุมได้ทัน หรือลงโทษได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ภาษาที่ใช้บางฉบับอ่านยาก ใช้ศัพท์เทคนิคค่อนข้างเยอะ ทำให้ชาวบ้านอ่านไม่เข้าใจ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในเวลานี้ คือ จำเป็นต้องกลับไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง ให้ทันต่อสถานการณ์โลก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาระบบราชการถูกมองว่า เป็นการทำงานเช้าชาม-เย็นชาม สร้างภาระ และไม่เป็นมิตรกับประชาชน กฎหมายบางฉบับเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ กลไกการตรวจสอบเข้าถึงได้ยากหรือไม่มีเลย ทำให้เกิดโอกาสทุจริตได้ง่าย มีการรีดไถ เกิดเงินใต้โต๊ะ อมเงินทอน ระบาดไปทั่ว และนี่คือสภาพของระบบราชการ ณ กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
“สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ อยากเห็นการติดต่อราชการไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรม ใดในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวก ง่าย ไม่มีเรื่องโกง และเป็นธรรม”
“แน่นอนว่าเราจะปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิม ๆ ต่อไปไม่ได้ ประเทศจะล่มจม อยู่ไม่ได้ นักลงทุนไม่อยากมาลงทุน เราจึงต้องแก้ไข ซึ่งทำได้ไม่เกินวิสัย วันนี้รัฐได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และจะทำให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็น Better Thailand”
เน้น 3 มาตรการ เพื่อการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม
รองนายกฯ วิษณุเผยว่า เพื่อให้ระบบราชการมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่ทุจริต ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ
- มาตรการด้านการบริหาร คือ การดำเนินการใน 3 ส่วน ทั้งบุคลากร งบประมาณ และเทคโนโลยี มีการเพิ่มอัตรากำลังหรือการบริหารบุคลากรให้เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งจัดสรรงบประมาณ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในระบบ ช่วยทุ่นแรงและเวลาลงได้ เห็นได้จากช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หน่วยงานราชการหลายแห่งจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการจ่ายเบี้ยเลี้ยงหรือโอทีลงไปได้มาก
- มาตรการด้านการปกครอง คือ การพัฒนาข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ฝึกอบรมให้ความรู้ และปรับทัศนคติใหม่ว่า การทำงานยุคใหม่ของราชการ คือ การบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกและรวดเร็ว พร้อมรับฟังเสียงประชาชน และเพิ่มโอกาสการตรวจสอบจากประชาชนมากขึ้น
- มาตรการด้านกฎหมาย คือ ต้องยึดหลักนิติธรรม พึงระลึกเสมอว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ได้บัญญัติไว้ว่า รัฐพึงออกกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และก่อนออกกฎหมายต้องถามความเห็นจากประชาชนก่อนเสมอ อีกทั้งเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายผ่านไป 5 ปี ต้องมีการประเมินผลว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็สามารถยกเลิกได้ ซึ่งมาตรานี้เพิ่งถูกเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
“วันนี้เรามีกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วนขึ้นมา เผื่อว่าเอกชนร้องขอให้แก้กฎหมายเร่งด่วน ก็สามารถนำเข้าคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้ นั่นหมายความว่าอะไรที่เป็นไปตามนโยบายอยากให้ทำกฎหมายเร่งด่วนก็ทำได้ดี 3-7 วัน เสร็จเข้าสภาได้รวดเร็วขึ้น
“นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2562-2565 ได้มีการคลอดกฎหมายใหม่ไปแล้ว 45 ฉบับ และมีอีก 2 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะรวมเป็น 47 ฉบับ เป็นกฎหมายสำคัญพอจะเป็นตัวอย่างที่ทำใไทยเป็น Better Thailand ได้”
‘4 ขึ้น 1 ลง’ เพื่อกฎหมายที่ดีกว่าเดิม
นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากกฎหมายที่คลอดใหม่ไปแล้ว ยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เมื่อเป็นกฎหมายเมื่อใด ประชาชนก็สามารถติดต่อราชการได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไลน์แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ จากเดิมประชาชนไปติดต่อราชการไม่ว่าเรื่องใด ต้องไปปรากฏตัวยื่นบัตรประจำตัวประชาชนถึงจะติดต่อราชการได้
“เมื่อสภาเปิดแล้วจะพิจารณากฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาใช้ และในกฎหมายฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้มาปรากฏตัว ยกเว้นข้อกำหนดที่จะต้องมาปรากฏตัว เช่น ขอสมรส ขอหย่า การทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น”
สำหรับกฎหมายที่ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความง่ายและสะดวกรวดเร็ว ยังมีอีกเช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก, พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนกฎหมายที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมและลดโกง มีเช่น พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย, ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ด้านกฎหมายที่ช่วยเพิ่มอำนาจให้ประชาชน มีเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น, พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
“เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้กฎหมายดีขึ้น ระบบราชการดีขึ้น และการทุจริตลดน้อยลง ตลอดทั้งการดำรงชีวิตการติดต่อราชการให้ประชาชนทำมาหากินได้สะดวกขึ้น การนำระบบการให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เซอร์วิส ต่อไปจะใช้ได้สมบูรณ์ขึ้น หากนำมาใช้จะเกิดความโปร่งใสทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ตรวจสอบได้ ลดโกงไปได้ไม่น้อย วันนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ 350 บริการเริ่มใช้ไปแล้ว และคณะรัฐมนตรีมีมติบังคับให้ต้องใช้อี-เซอร์วิสแล้ว 12 บริการ 25 ประเภท”
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามออกกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจสอบ อาทิ กฎหมายมาตรฐานจริยธรรม ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการการเมือง นักการเมือง ต้องถูกตรวจสอบโดยไม่มีข้อยกเว้น และยังมีกฎหมายอีกสองฉบับ ที่รอกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่าง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย, พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะประกาศใช้ต้นเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนที่คลอดแล้ว คือ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น, พระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปยังสภาได้ ไม่ต้องรอให้ ส.ส.เสนอ และพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติ
ช่วงท้ายของปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอร์รัปชันทันที’ นายวิษณุยังกล่าวถึงความต้องการของรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลเป็น Better Thailand นั่นคือ ‘4 ขึ้น 1 ลง’ ประกอบด้วย
มีความเป็นธรรมขึ้น (Fairer), มีความรวดเร็วขึ้น (Faster), มีความง่ายขึ้น (Easier) และเข้าท่าขึ้น (Smarter) ขณะที่ต้นทุนของรัฐและประชาชนต้องถูกลง (Cheaper) ทั้งหมดนี้มีบางส่วนเกิดขึ้นแล้ว แต่บางส่วนต้องเกิดขึ้นมากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น หรือเป็น Better Thailand เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม
สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ต้องเปลี่ยน…เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้น
ไม่ว่าโลกจะถูกดิสรัปต์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวนำพาเศรษฐกิจให้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญ คือ การดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างสมดุลและลงตัวมากที่สุด
ประเด็นนี้ถูกถ่ายทอดในหัวข้อ ‘สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ’ โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำระดับประเทศร่วมเสนอมุมมอง และทิศทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปต่อข้างหน้าให้ดีกว่าเดิม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า จากนี้ไป การเดินหน้าของภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคม ต้องคำนึงถึงคำว่า Green, Growth และความยั่งยืน เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้อย่างสมดุล เพราะธรรมชาติอยู่ได้แม้ไม่มีมนุษย์อยู่ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมชาติ ดังนั้น การเดินทางจากนี้ไป ต้อง ‘Move forward greener’
ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชูมาตรการ 4 สหายตัวดี (4D) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพประหยัดพลังงานตอบรับกระแสโลก ประกอบด้วย Decarbonization เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน Digitalization นำ IoTs มาใช้ในภาคพลังงาน Decentralization เพิ่มระบบไมโครกริด เพื่อขยายการขายไฟฟ้าที่ใหญ่ขึ้น และ Deregulation ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกัน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างโลกให้ยั่งยืน เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างธุรกิจให้เข้มแข็ง ซึ่ง กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายนำไทยสู่เป้าหมาย Net Zero พร้อมชูกลยุทธ์ 3P เพื่อบรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย Pursuit ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า Portfolio transformation หันมาใช้พลังงานทดแทน และ Partnership and Society ร่วมมือสร้างความเปลี่ยนแปลง
ส่วน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า เอสซีจีมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ผ่านการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานทดแทน ดูแลสังคม และพัฒนานวัตกรรม
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบ BCG ได้แก่ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน