มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ผนึกกำลัง 38 มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ ลดอัตราการเสียชีวิตผู้หญิงไทยจากภัยมะเร็งเต้านม

วันที่ 23-24 พ.ค. 2565 : ณ ห้องประชุมตรีเพชร อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงพยาบาลศิริราช พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการความร่วมมือภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ระหว่างมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม โดยมีตัวแทนคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมการประชุมทั้งแบบ Onsite และ Online กว่า 143 คน

คุณบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ ฯ กล่าวว่า “ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมยังเป็นภัยร้ายอันดับหนึ่ง ที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย และผู้หญิงทั่วโลก ทั้งๆ ที่มะเร็งเต้านมนั้นเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายนอกและหากมีการพบในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถรักษาหายได้ นอกจากนี้ จากรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูล มูลนิธิฯ ยังพบว่า สตรีที่ป่วยมะเร็งเต้านมในแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทยมีมากขึ้น และยังพบในกลุ่มที่อายุน้อยลงอีกด้วย

มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีซึ่งมีพันธกิจหลักในการรณรงค์ และสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า “ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างเหมาะสม และให้รักษาคนจน คนรวยโดยเท่าเทียมกันได้ตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากแนวโน้มดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง  ซึ่งมีพันธกิจสำคัญได้แก่ การสอน การบริการวิชาการ การวิจัย และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมียุทธศาสตร์ร่วมกัน 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ยุทธศสาตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ  โดยมีพื้นที่ให้บริการการศึกษา 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงยังมีบุคลากรมากกว่า 14,000 คน และมีนักศึกษามากกว่า 330,000 คน ดำเนินโครงการเผยแพร่ความรู้ การดูแลเต้านมและการตรวจเต้านมตนเองเบื้องต้นโดยมูลนิธิถันยรักษ์ฯให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการบริการวิชาการที่สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น โดยมูลนิธิฯ ได้จัดทำหลักสูตรผ่าน ระบบ e-Learning และกิจกรรมกระตุ้นต่างๆ เพื่อ ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งเข้าร่วมและพัฒนาผู้นำในการเผยแพร่ ความรู้ดังกล่าว ไปยังประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมมากที่สุด

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า“ในนามของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจที่สำคัญครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉพาะสตรีไทย ทั้งนี้การดำเนินงานขับเคลื่อนดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะทำงาน และตั้งเป้าหมายที่จะนำนักศึกษากว่า 10,000 คน เข้าร่วมเรียนรู้หลักสูตรที่ทางมูลนิธิฯ ได้พัฒนาขึ้น พร้อมกันนี้ยังจะร่วมดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อน การรณรงค์ เผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชน ชุมชน ตามพื้นที่รับผิดชอบของทางมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด”

นายแพทย์ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวว่า “มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นจากภัยมะเร็งเต้านม ตามพระราชปณิธานสมเด็จย่า ซึ่งมูลนิธิฯ ยึดถือเป็นพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานมาโดยตลอด ทั้งด้านการรณรงค์ผ่านเครือข่าย และสื่อต่างๆ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยรักษามะเร็งเต้านมให้กับผู้หญิงไทย ผ่านศูนย์ถันยรักษ์ ณโรงพยาบาลศิริราช ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ถันยรักษ์ ได้ให้คำปรึกษาอและตรวจเช็คมะเร็งเต้านมให้กับผู้หญิงไทยไปแล้ว กว่า 160,000 รายและให้บริการแล้วกว่า 1,000,000 ครั้ง แต่เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมราคาค่อนข้างสูง และมีจำนวนจำกัด มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้สตรีไทย มีความรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการตรวจ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านมอย่างสม่ำเสมอและถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเสียชีวิต เพราะหากมีการพบความผิดปรกติในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาและมีโอกาสรอดชีวิตได้มาก”

นายแพทย์ วัลลภ ไทยเหนือ ประธานโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านมกล่าวว่า “ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้หญิงไทยดำเนินการตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ดำเนินการโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าฯ ต้านภัยมะเร็งเต้านม โดยมีผู้หญิงไทยอายุ 30 – 70 ปี จาก 21 จังหวัด จำนวน 1.9 ล้านคน เน้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ใช้เวลาศึกษา 10 ปี จาก พ.ศ. 2555 – 2565 ซึ่งผลการติดตามการประเมินผล 5 ปีแรก พบว่าผู้หญิงในกลุ่มที่ตรวจเต้านมตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ตรวจอย่างสม่ำเสมอ มีก้อนมะเร็งที่พบขนาดเล็กกว่า พบระยะต้นมากกว่า อัตราการรอดชีพสูงกว่า และพบว่ากลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 50 – 55 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตกที่พบในกลุ่มอายุมากที่สุด คือ 65 – 70 ปี จึงเชื่อว่าผู้หญิงของประเทศตะวันออกจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่า และเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันด้วยความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ”

นอกจากนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการความร่วมมือภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ระหว่างมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมบรรยายให้ความรู้กับคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายแพทย์เฉลิมเดช กรรณวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์
ถันยรักษ์ ฯ และนายแพทย์ชลทิศ อุไรฤกษ์กุล ที่ปรึกษาสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตร E-learning และระบบติดตามการบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง (BSE Application)

เนื้อหาการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ระหว่างวันที่ 23 -24 พ.ค. 2565 ครอบคลุม 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย

  1. การอบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และการตรวจเต้านมตนเองอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
  2. การเรียนรู้หลักสูตร E-Learning เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม รวมทั้ง Breast Self Examination Application หรือ BSE Application ซึ่งมูลนิธิฯ และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นใช้เครื่องมือในการเรียนการสอนนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
  3. การจัดกิจกรรมกระตุ้น เพื่อให้นักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วม และขยายผลความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และการตรวจเต้านมตนเอง ไปสู่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ

เว็บไซต์                : https://www.thanyarak.or.th/

Facebook            : https://www.facebook.com/thanyarakbreastcenter

หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2411-5657-9