อีอีซี จับมือพันธมิตรระดับโลก พัฒนาทักษะบุคลากรอุตสาหกรรมอีวี-เทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูง

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและการแพทย์สมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้แผนการลงทุนระยะ 2 ระหว่างปี 2565-2569 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนใน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี และจะเป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี

เป็นที่มาของความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร และยกระดับเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงในพื้นที่อีอีซี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ บริษัท เอบีบี ออโต เมชั่น จํากัด (ประเทศไทย) บริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ABB) บริษัท โรช ไทยแลนด์ (Roche) และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมลงนาม (MOU) 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ นำโดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี, เจียนอันเดร-อะ บรุซโชเน ผู้อำนวยการบริษัท เอบีบี อิเล็คทริฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด,  ล้ำบุญ สิมะขจรบุญ ผู้อำนวยการบริษัท เอบีบี ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย ในนาม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ พญ.ศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ผู้แทนของบริษัท โรช ไทยแลนด์

อัพสกิลเทคโนโลยีชั้นสูง พัฒนาระบบออโตเมชั่น

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวย้ำถึง ‘การพัฒนาความรู้และความสามารถของคน’ เป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ความร่วมมือครั้งนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและการพัฒนาความสามารถ ‘ABB Academy’ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาทักษะบุคลากรด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีวี ในพื้นที่อีอีซี ซิลิคอน วัลเล่ย์ เทคพาร์ค จังหวัดระยอง (Tech Park), ศูนย์ธุรกิจ เอบีบี ระยอง จังหวัดระยอง (ABB RBC) และในพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมเอบีบี บางปู จังหวัดสมุทรปราการ (ABB Innovation Center) พร้อมกับตั้งเป้าหมายสร้างบุคลากรทักษะสูงไม่น้อยกว่า 1,000 คน ในระยะเวลา 2 ปี สร้างตำแหน่งงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่อีอีซี
 ผู้แทนจากพันธมิตร ABB เจียนอันเดรอะ บรุซโซเน กรรมการบริษัท ABB Electrification กล่าวเสริมว่า บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นการจ่ายกระแสไฟฟ้า และระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอีวี ถือเป็นความเชี่ยวชาญของ ABB ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะช่วยเตรียมบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีแล้ว ยังพร้อมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ที่เป็นหัวใจสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

ขับเคลื่อนเทคโนโลยีการแพทย์ระดับโลก ยกระดับรักษาโรคมะเร็ง

ความร่วมมือระหว่างอีอีซีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จะเป็นการประสานองค์ความรู้การวิจัยและการบริการของศิริราช ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกด้านการถอดรหัสพันธุกรรมจากชิ้นเนื้อและเลือดของผู้ป่วยมะเร็ง (Comprehensive Genomic Profiling: CGP) และเวชภัณฑ์ในการรักษามะเร็งของโรช ไทยแลนด์ เพื่อผลักดันให้มีการตรวจพันธุกรรมของมะเร็งอย่างกว้างขวาง สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่และสถานพยาบาลต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการตรวจดังกล่าวได้โดยไม่ต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ

นอกจากนี้ การได้รับยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าซึ่งออกฤทธิ์ได้ตรงจุด ยังช่วยให้การรักษาโรคได้ผลดีขึ้น มีผลข้างเคียงลดลง ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อนึ่ง งานลงนามความร่วมมือก้าวสำคัญของเออีซีกับพันธมิตระดับโลก ได้รับเกียรติจาก เฮเลน บุดลีเกอร์ อาร์ทีดา เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย มาร่วมยินดี ในฐานะที่ ABB และ Roche เป็นภาคเอกชนชั้นนำของสวิสเซอร์แลนด์ โดยท่านทูตกล่าวเน้นย้ำถึงความร่วมมือว่า จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกระชับมากยิ่งขึ้น