CEA เปิดเวที “Creative Economy Forum Thailand 2022” ตั้งเป้าพาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยสู่สากลด้วย Soft Power

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA (Creative Economy Agency (Public Organization)) ร่วมกับ บริษัท เวรียนส์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จัดเวทีฟอรั่ม Creative Economy Forum Thailand 2022 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC กรุงเทพฯ

หัวข้อสัมมนาหลักของงานว่าด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยก้าวไปด้วยเทคโนโลยี ท่ามกลางโรคระบาดอุบัติใหม่” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ก้าวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมพัฒนา “Soft Power” เพื่อส่งออกเป็นสินค้าที่น่าภาคภูมิใจสู่สายตาคนทั้งโลก

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า CEA มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทย โดยนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามาสร้างเป็นนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้มหาศาล หากทำสำเร็จ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์เต็มที่ ก่อให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืนตามมา

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์เอไอ รวมถึงเมตาเวิร์สที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน เป็นต้น ภาครัฐต้องดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาบุคลากร เตรียมระบบนิเวศด้านต่าง ๆ ให้พร้อม เพื่อพาสังคมไทยไปถึงเป้าที่ตั้งไว้ CEA ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนผู้ประกอบการให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลก และจะไม่หยุดจนกว่าจะสำเร็จ”

ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น Soft Power” ว่า การจะส่งเสริม Soft Power ให้สำเร็จ ทุกคนต้องกลับมาสำรวจว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นและจุดขายอะไรที่ผู้อื่นไม่มี หากสามารถนำเสนอต้นทุนเหล่านั้นออกไป ผนวกกับการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายอย่างแน่นอน

เราต้องการผลักดันเมืองไทยให้เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับโลก เราสำรวจว่าไทยมีศักยภาพด้านใดมากที่สุด และพยายามติดต่อกับผู้เล่นในตลาดโลกเพื่อส่งออก เรามียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เราจะสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างย่านสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ยกระดับอัตลักษณ์ไทย ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดสากล ที่ต้องขายได้และขายดี”

ซึ่งแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องอาศัยศิลปวัฒนธรรม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยในปี 2563 มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.58% ของ GDP ประเทศไทย และมีอัตราการจ้างงานสูงถึงกว่า 9 แสนคน

นอกจากนี้  ดร. ชาคริต ยังได้เน้นย้ำว่าการสร้าง Soft Power ผ่านวัฒนธรรม จะเป็นกลไกสำคัญในการส้รางมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

ขณะที่ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ทัศนะถึง “อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย หลังพลิกฟื้นจากโรคโควิด-19 และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” ว่าถึงแม้ไทยอาจไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ที่มีทั้ง Hard Power และ Soft Power แต่ไทยมีต้นทุนวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ

หลายสิบปีก่อน Kellogg School of Management มหาวิทยาลัย Northwestern ทำวิจัยสอบถามผู้บริหารองค์กรทั่วโลก 500 คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับไทยว่า แก่นแท้ของความเป็นไทยคืออะไร ผลที่ออกมาพบว่าคนนอกมองไทยว่าประกอบด้วย 5F คือ คนไทยเป็นคนสนุกสนาน (Fun) มีวัฒนธรรมที่เปี่ยมรสชาติ (Favoring) ชอบสร้างสีสันเติมเต็มกัน (Fullfillling) มีความยืดหยุ่น (Flexible) และเป็นมิตร (Friendly)… 

มุมมองจากคนนอกที่มองเข้ามาถือเป็นดีเอ็นเอบ่งชี้ว่า เรามีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม สามารถสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะบริหารจัดการสิ่งนี้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ขณะที่ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อนาคตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยหลังโควิด-19 และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” พบว่า จากนี้ไป โลกจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งล้วนมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้คนไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด และกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

เมื่อโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทักษะที่คนไทยเคยเรียนรู้จะไม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ดังนั้นคนไทยต้องรีบ reskill อย่างเร่งด่วน ถ้าไม่ปรับตัว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปี 2568-2574 จะอยู่ที่ 2% ซึ่งน้อยมาก แต่หากพยายามอย่างแข็งขันจนสามารถเติบโตเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ จะทำให้ประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว”

เวทีฟอรั่ม Creative Economy Forum Thailand 2022 ยังมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจอีก 2 หัวข้อ ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ” โดยมีใจความสำคัญเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยยิ่งขึ้น

และหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การยกระดับอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็น Soft Power” ที่ได้นักสร้างสรรค์ด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยมาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไปสู่ระดับชาติ และช่วยผลักดัน Soft Power ไปสู่ระดับโลก 

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมงานฟอรั่มย้อนหลังทั้งงานได้ทาง Facebook Fanpage : Creative Economy Agency และสามารถติดตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยที่น่าสนใจในอนาคตเพิ่มเติมได้ที่ /www.cea.or.th