European Green Deal เรื่องที่ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องรู้ เมื่ออียูให้ความสำคัญกับสินค้ารักสิ่งแวดล้อม

นโยบาย ลดโลกร้อน’ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของยุโรป เป็นการกำหนดเป้าหมายและกำหนดภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อสภาวะโลกร้อน สหภาพยุโรปจึงเดินหน้าในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวางแผนการลดโลกร้อนในอนาคต ผ่านแผนการใหม่ ที่เรียกว่า European Green Deal หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งหรือ 55% ในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างไร และธุรกิจใดจะมีโอกาสเติบโตประสบความสำเร็จได้ในตลาด EU ในอนาคต บทความนี้มีคำตอบ

European Green Deal  คืออะไร?

European Green Deal คือ แผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (EU) โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เป็นแผนยุทธศาสตร์ ในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัยและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงร้อยละ 50 – 55 ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดย Green Deal จะให้ความสำคัญกับมาตรการทางภาษี เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของ Green Deal โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองในเรื่องหลักๆ ดังนี้

  1. การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  2. การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
  3. การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  4. การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
  5. การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  6. การออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป คือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU)

ทั้งนี้มาตรการ European Green Deal อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย จึงเป็นความท้าทายที่ภาคส่งออกไทยต้องเตรียมการรับมือนโยบายและมาตรการ European Green Deal โดยการเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส

โอกาสในวิกฤต ปรับลดภาษีเหลือ 5% หนุนสินค้ารักษ์โลก

ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขั้นต่ำในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 15% จากนโยบายที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ตกลงร่วมกันปรับลดภาษีลงเหลือ 5% ให้กับสินค้าและบริการในสหภาพยุโรปที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ซึ่งนอกจากยังปรับลดภาษีสินค้าและบริการที่ส่งเสริมการรักษาสุขภาพและสินค้าและบริการที่ปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้อัตราภาษีใหม่ได้ หลังจากที่สภายุโรปให้ความเห็นชอบ

ขณะที่ประเทศสมาชิกสามารถลดอัตราภาษีมากกว่านี้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หมวดสินค้าและบริการที่กำหนด และไม่กระทบกับแผน European Green Deal ซึ่งสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ จักรยาน, จักรยานไฟฟ้า และบริการที่เกี่ยวข้อง ระบบทำความร้อน, ความเย็น พลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวมวลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในบ้านและอาคาร

นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงเพื่อยกเลิกการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำสำหรับสินค้าปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งจะเริ่มในปี 2032 เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัว สำหรับสินค้าด้านสุขอนามัย ที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้พิการ เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการด้านการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ การให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงบริการสื่อถ่ายทอดสด (Live Streaming) สำหรับการจัดงานกีฬาและวัฒนธรรม เป็นต้น

ขณะที่ผลสำรวจประชาชนในสหภาพยุโรป เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารมากที่สุด เช่น ยาปฏิชีวนะ สเตียรอยด์ในเนื้อสัตว์ ยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสารเจือปน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ในยุโรปกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ EU เข้มงวดกับมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงออกยุทธศาสตร์ ‘Farm to Fork Strategy’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย European Green Deal ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภคจนถึงการกำจัดขยะอาหาร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้สารเคมี และส่งเสริมฟาร์มออร์แกนิกมากขึ้น

ทั้งนี้จากมาตรการดังกล่าวของ EU จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยปฏิบัติได้ตามยุทธศาสตร์ของ EU เนื่องจากสหภาพยุโรปอาจเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของไทยในอนาคต ดังนั้น ‘Farm to Fork Strategy’ จะส่งผลกระทบต่อไทยในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่งผลต่อการออกกฎหมายของไทยที่ ห้ามการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทำให้ผู้ประกอบการไทยหันมาปลูกผักอินทรีย์ ผลิตอาหารจากวัตถุดิบอินทรีย์และส่งออกสินค้าที่เป็นออร์แกนิกมากขึ้น

2.ลดการบริโภคเนื้อแดงเป้าหมายคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ลดการบริโภคเนื้อแดง – เนื้อแปรรูป หันมารับประทานอาหารที่ผลิตจากพืช และอาหารจากแมลงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ อาทิ จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอน ซึ่งปัจจุบันชาวยุโรปนิยมรับประทานมากขึ้น เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนสูงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์และสร้างมลภาวะน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะเติบโตได้อีกมากในตลาด EU เนื่องด้วยสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มนำเข้าสินค้าอาหารจำนวนมากนั่นเอง

3.การผลิตอาหารปลอดสาร จากวิกฤตโควิด-19ทำให้อียูตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร นวัตกรรมในการผลิตอาหารและอาหารสำเร็จรูป ให้สอดรับกับข้อกำหนดของ EU และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เลิกใช้สารที่จะทำให้เกิดสารตกค้างในอาหาร

สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าพลังงานทดแทนและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทย ส่วนผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าอาหารมายังตลาดยุโรป ควรเร่งปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามที่ EU กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สินค้าปลอดสารพิษ สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่ได้รับการรับรองการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอาหาร และผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค EU

ที่มา

https://www.tisi.go.th/data/regulate/regulation/EU/Farm_to_Fork_Th.pdf

https://naichangmashare.com/2021/09/10/eu-greendeal-co2tax-news/

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7681.html

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333