โรคความดันโลหิตสูง เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ทำตามง่ายนิดเดียว

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : อ.พญ.ณัฏฐากร พงศ์เศรษฐ์กุล ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ความดันโลหิตสูง หรือความดันเลือดสูง นับว่าเป็นโรคที่น่ากลัวต่อร่างกายและพบได้บ่อย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีสัญญาณของอาการบ่งบอกอย่างชัดเจน โรคความดันโลหิตสูง สามารถก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงจนนำไปสู่การแข็งตัว การอุดตันของหลอดเลือด หากได้รับการรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ หรือไตวายเรื้อรังตามมาได้

ปัจจัยเสี่ยงความดันเลือดสูง

สำหรับความดันเลือด คือ ค่าแรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังเส้นเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถวัดได้ 2 ค่า ได้แก่ “ค่าความดันตัวบน” คือ แรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวเต็มที่ และ “ค่าความดันตัวล่าง” คือ แรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัวเต็มที่

โดยปัจจัยเสี่ยงความดันเลือดสูง มีทั้ง อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเครียดจะส่งผลให้ความดันเลือดสูงผิดปกติ ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง รับประทานเกลือมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ตลอดจนผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

อาการ-อันตรายจากความดันเลือดสูง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ จะทราบว่ามีความดันเลือดสูงต่อเมื่อได้ทำการวัดความดันเลือดเท่านั้น แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เหนื่อยง่ายได้ ถ้าผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงและปล่อยไว้นานก็อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายทั้งสมอง หัวใจ ไต ตา และหลอดเลือด อวัยวะต่าง ๆ จะทำงานไม่เป็นปกติ นำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ซึ่งนำมาสู่ภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้

เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย หากมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์และทำการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ข้อแรก ปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดโรค เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมอาหารที่มีรสเค็มจัด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงความเครียด จะสามารถควบคุมความดันเลือดได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมความดันเลือด

ADVERTISMENT

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะพิจารณาให้ยารักษาความดันเลือด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ระดับค่าความดันเลือด

ความดันเลือดในเกณฑ์ที่ดี ค่าความดันเลือดตัวบนควรอยู่ที่ตัวเลขต่ำกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันเลือดตัวล่างต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท

ADVERTISMENT

ความดันเลือดเกณฑ์ปกติ ความดันเลือดตัวบนอยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท ส่วนค่าความดันเลือดตัวล่างจะอยู่ที่ 80-84 มิลลิเมตรปรอท

ความดันเลือดเกณฑ์ค่อนข้างสูง ค่าความดันเลือดจะอยู่ที่ 130-139 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างจะอยู่ที่ 85-89 มิลลิเมตรปรอท

ความดันเลือดสูง ระดับที่ 1 ความดันเลือดตัวบน 140-159 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 90-99 มิลลิเมตรปรอท

ความดันเลือดสูง ระดับที่ 2 ค่าความดันเลือดตัวบนจะอยู่ที่ 160-179 มิลลิเมตรปรอท และความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 100-109 มิลลิเมตรปรอท

ความดันเลือดสูง ระดับที่ 3 ค่าความดันเลือดตัวบนจะเป็นตัวเลขตั้งแต่ 180 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ส่วนความดันเลือดตัวล่างอยู่ที่ 110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป