
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ ผู้เขียน : ผศ.พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะขาดน้ำ (dehydration) คือ ภาวะที่เสียสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยเปรียบเทียบระหว่างปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับเข้ากับการขับน้ำออกจากร่างกาย ผลกระทบจากการขาดน้ำในร่างกายทำให้ ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น คอแห้ง หิวน้ำ และปัสสาวะสีเข้ม โดยภาวะขาดน้ำสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่ควรระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษในวัยผู้สูงอายุ
เนื่องจาก ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลง ทำให้อาการของภาวะขาดน้ำไม่ชัดเจนเหมือนในวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุมักมีความรู้สึกกระหายน้ำลดลง หรือไม่มีเลย ทั้งที่มีภาวะขาดน้ำในร่างกาย รวมถึงสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงจากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ
เช่น ภาวะสมองเสื่อมทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง อาจลืมดื่มน้ำระหว่างวันทำให้ไม่ได้รับน้ำได้อย่างเพียงพอ รวมไปถึงการได้รับยารักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ก็อาจทำให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าปกติได้
อาการของภาวะขาดน้ำ มีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น หิวน้ำมาก ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไปจนถึงอาการที่รุนแรง เช่น ความดันเลือดต่ำ หอบ หายใจเร็ว และหัวใจเต้นเร็ว ผิวหนังแห้ง ขาดความยืดหยุ่น ซึม สับสน สูญเสียการรับรู้ ปัสสาวะเป็นสีเข้ม และปัสสาวะออกน้อยผิดปกติ
โดยภาวะแทรกซ้อนจากภาวะขาดน้ำ มีทั้งโรคลมแดด โรคตะคริวแดด การช็อก เนื่องจากความดันเลือดต่ำ และออกซิเจนในร่างกายลดต่ำลง การชัก จากเกลือแร่ผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว หมดสติ และภาวะไตวายเฉียบพลัน
ภาวะขาดน้ำเป็นอีกหนึ่งอาการที่ผู้สูงอายุและผู้ดูแลต้องระมัดระวัง หมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด หากมีอาการผิดปกติไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
สาเหตุของภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- ปัสสาวะออกมากเกินไป
- การสูญเสียน้ำจากโรคบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ที่มีอาการอาเจียนและท้องเสีย
- การสูญเสียน้ำผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น แผลจากไฟไหม้ หรือผู้ป่วยที่มีการหลุดลอกของผิวหนังปริมาณมาก
- เหงื่อออกมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หรือผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ
เวลาไหนไม่ควรดื่มน้ำเยอะ
- ใกล้ถึงเวลารับประทานอาหาร
- หลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อเย็น
- ก่อนนอน
ควรดื่มน้ำเวลาไหน
- ตื่นนอน
- ทยอยดื่มเรื่อย ๆ ในระหว่างวันโดยไม่ต้องรอให้รู้สึกหิวน้ำ
การรักษาภาวะขาดน้ำด้วยตนเอง
- ให้ดื่มน้ำสะอาด และดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เหมาะสม
- หยุดทำกิจกรรมที่จะทำให้มีการสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น และหาพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกในการพักผ่อน
- ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ให้สบายตัว
- ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำที่มีน้ำตาลสูง
การป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ของการจำกัดน้ำ หากออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมหนัก ๆ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว
- ใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ สามารถระบายความร้อนได้ดี
- พักผ่อนในสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบายและถ่ายเทความร้อนได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ อุณหภูมิในร่างกายร้อนมาก หรือเหนื่อยผิดปกติ ในขณะทำกิจกรรมหนัก ๆ หรือออกกำลังกาย ควรหยุดพักทำกิจกรรมนั้น ๆ
ในช่วงฤดูร้อน ผู้สูงอายุควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำ โดยการจัดหาน้ำดื่มไม่ให้ห่างตัว หาที่พักอากาศเย็นสบาย จัดหาเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และให้ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ น้ำหวาน อีกทั้งหากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นตะคริว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที