
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ ผู้เขียน : ผศ.นพ.กุลพัชร จุลสําลี ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
หัวเข่า เป็นข้อต่อสำคัญระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง หากข้อเข่าผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดอาการเข่าบวม เจ็บเวลางอหรือเหยียดข้อเข่า เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้ อาจเกิดจากภาวะเข่าบวมน้ำ ซึ่งเป็นความผิดปกติของน้ำในข้อเข่าที่ส่งผลข้อเข่าอักเสบ
จากอุบัติเหตุที่กระทบกระแทกกับข้อเข่า ทำให้เกิดความระคายเคือง ความเสื่อมของร่างกายที่ส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อสร้างน้ำข้อเข่ามากเกินไปและสะสมอยู่ในข้อเข่า
สาเหตุมาจากการบาดเจ็บของโครงสร้างในข้อเข่าจากอุบัติเหตุ เช่น หมอนรองกระดูกเข่า เส้นเอ็น หรือเนื้อเยื่อในข้อเข่า หกล้ม ตกจากที่สูง เล่นกีฬา ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีการติดเชื้อภายในข้อเข่า โรคบางชนิด เช่น โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง การใช้งานข้อเข่าที่มากเกินไป
สาเหตุที่พบได้น้อย เช่น โรคกระดูกข้อเข่าขาดเลือด เนื้องอกกระดูก
อาการภาวะเข่าบวมน้ำ ปวดข้อเข่าตลอดเวลา เจ็บมากขึ้นเวลางอ-เหยียดข้อเข่า ปวดหัวเข่าเวลาขึ้น-ลงบันได หน้าเข่าหรือรอบข้อเข่าบวมแดง ปวดหัวเข่าจนนอนไม่ได้ ผิวหนังบริเวณข้อเข่าร้อนกว่าอีกข้าง อาจรู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำ ๆ ไม่สามารถยืดเข่า งอเข่า หรือเหยียดขาให้ตรงได้
การตรวจวินิจฉัย-ซักประวัติ วินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุ เช่น การกระแทก อุบัติเหตุ โรคประจำตัว อาการที่เกิดร่วมต่าง ๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค
ตรวจสภาพข้อเข่าด้วยการตรวจอาการบวมน้ำ การขยับของข้อเข่า บางกรณีอาจส่งตรวจเอกซเรย์ เพื่อตรวจสอบพยาธิสภาพข้อเข่า เช่น กระดูกบาดเจ็บ ข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าผิดรูป หรือรอยโรคผิดปกติในเนื้อกระดูก
อัลตราซาวนด์ตรวจการอักเสบบวมน้ำของข้อเข่า การบวมของเนื้อเยื่ออ่อนรอบหัวเข่า ช่วยวินิจฉัยโรคเนื้องอกต่าง ๆ
MRI ตรวจด้วยเครื่องมือที่สร้างภาพเสมือนจริงด้วยสนามแม่เหล็ก คลื่นวิทยุ จะทำให้เห็นความผิดปกติทั้งเส้นเอ็นฉีกขาด รอยร้าวกระดูกและข้อ บอกปริมาณน้ำในข้อเข่า
นอกจากนี้ยังวินิจฉัยโรคข้อเข่าจากโรคเนื้องอกของกระดูก เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรคกระดูกขาดเลือด เจาะข้อเพื่อนำน้ำในข้อเข่าไปตรวจวิเคราะห์
ซึ่งวิธีการนี้สามารถวินิจฉัยแยกโรคข้อเข่าติดเชื้อ โรคเกาต์แท้ โรคเกาต์เทียม และข้อเข่าบวมจากอุบัติเหตุ
วิธีรักษาภาวะเข่าบวมน้ำ-หากเกิดจากอุบัติเหตุแพทย์จะส่งเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบการฉีกขาดของเส้นเอ็นภายในข้อเข่าและรักษาตามอาการ หากติดเชื้อของข้อเข่า แพทย์จะผ่าตัดล้างข้อเข่า ใช้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากเกิดจากโรคเกาต์แท้ โรคเกาต์เทียม แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยา หากไม่ดีขึ้นจะฉีดยาลดการอักเสบในข้อเข่า
วิธีป้องกัน-ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยาน รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นั่งยกเข่า แกว่งเข่า เลี่ยงยกของหนัก