
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ ผู้เขียน : ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เกม สื่อความบันเทิงอย่างหนึ่งที่หลายคนเลือกเป็นตัวช่วยในการคลายเครียด ในอีกทางหนึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ดี เช่น การวางแผน การจัดการทีม แต่หากหมกมุ่นในการเล่นเกมจน ติดเกม ไม่ออกไปเจอโลกภายนอกหรือพบปะผู้คนเลยก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้
ประเภทของเกมที่คนนิยมเล่น
1. เกมต่อสู้ (Fighting) เป็นการนำตัวละครมาต่อสู้กันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ตัวละครแต่ละตัวจะมีทักษะพิเศษโดดเด่นแตกต่างกัน
2.เกมสวมบทบาท (Role-playing) เรียกสั้น ๆ ว่า RPG เป็นเกมเล่นตามบทบาทมีลักษณะให้ผู้เล่นสวมบทเป็นตัวละครหนึ่งในเกม มีเป้าหมายเดินตามเนื้อเรื่องที่ปูเส้นไว้หรือมอบอิสระในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
3.เกมผจญภัย (Adventure) แนวเกมที่เน้นการเดินทางออกสำรวจดินแดนทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
4. เกมยิงปืน (Shooter) แนวเกมที่มอบประสบการณ์ให้ผู้เล่นรับบทเป็นทหาร ตำรวจ หรือนักล่า
5.เกมกีฬา (Sport) ได้แรงบันดาลใจจากกีฬายอดนิยมดัดแปลงออกมาในรูปแบบเกมการแข่งขัน
6.เกมวางแผน (Strategy) แนวเกมที่ไม่เน้นการใช้กำลัง แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดแบบวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะ
7.เกมปริศนา (Puzzle) เกมประเภทนี้มีเป้าหมาย คือ การแก้ปัญหาให้ถูกต้อง อาจเพิ่มความท้าทายด้วยการใส่ลูกเล่นแบบตอบผิดต้องโดนทำโทษหรือจับเวลา
8.เกมจำลองสถานการณ์ (Simulation) วัตถุประสงค์ของเกมนี้ คือ การมอบประสบการณ์จริงหรือการเรียนรู้ช่วยเพิ่มทักษะให้แก่ผู้เล่นด้วยข้อจำกัดในชีวิตจริงบางครั้งคุณต้องเตรียมความพร้อมและเรียนรู้ด้วยตัวเอง
วิธีสังเกตอาการติดเกม
1.มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการเล่นเกม เช่น นึกถึงการเล่นที่ผ่านมา หรือนึกถึงการเล่นในครั้งถัดไป
2.ใช้เวลากับการเล่นเกมมากเกินไปไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชอบ
3.ไม่พอใจเมื่อต้องงดหรือลดการเล่นเกม เช่น หงุดหงิด อาละวาด หรือเครียด
4.มีความต้องการเล่นเกมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเกม
5.มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่นเกม เช่น ขโมยเงิน โกหกปิดบังการเล่นของตนเอง ทะเลาะกับคนรอบข้าง
6.อาจเคยพยายามหยุดหรือลดการเล่นแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ
7.ใช้การเล่นเกมเพื่อจัดการอารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า เบื่อ โกรธ เหงา อยู่บ่อย ๆ
8.ยังคงการเล่นของตนอยู่แม้ว่าจะทราบถึงผลทางลบที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมต่อการใช้ชีวิตของตนเอง
9.เสียหรือพลาดโอกาสสำคัญในชีวิตต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หน้าที่การงาน การเรียน อันเนื่องมาจากการเล่นเกมของตน
สาเหตุของการติดเกม
1.เกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติทั้งด้านโครงสร้างการทำงานและสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ
2.มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) อยากได้การยอมรับจากผู้อื่น เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น
3.การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Por Disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี ทำให้เล่นเกมจนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน
4.ปัญหาครอบครัว ขาดต้นแบบที่ดี บางครอบครัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน
ติดเกม เสี่ยงเป็นโรคจิตเวช
อาการติดเกมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งการที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย โดยการมีโรคทางจิตเวชดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งสาเหตุหรือเป็นผลที่ตามมาจากการติดเกม โรคทางจิตเวชที่มักพบได้บ่อยประกอบด้วยโรคดังนี้
โรคสมาธิสั้น (ADHD) การทำงานสมองของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะต้องการการตอบสนองที่ฉับพลัน ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่ เพราะฉะนั้นการเล่นเกมจึงสามารถตอบสนองได้ทันที ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นแบบไม่ต้องรอนาน และการเล่นเกมมีความแปลกใหม่ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา การเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้น
โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มีผลการเรียนไม่ดี คนรอบข้างตำหนิหรือแสดงท่าทีไม่ยอมรับ ทำให้ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อไปเล่นเกมแล้วทำได้ดี มีสังคมเพื่อนในเกม ได้รับการชื่นชมและยอมรับจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้น
โรคซึมเศร้า (Depression) อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนีจากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ ทำให้อยากที่จะอยู่ในโลกของเกม
ผลเสียที่มาจากการติดเกม
ด้านสุขภาพ อาการทางกายที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ (Unexplained Somatic Symptoms) เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือปวดเมื่อยตามตัว เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด และโรคอ้วน
ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม พัฒนาการทักษะทางสังคมไม่ดี ไม่มีสมาธิ มีพฤติกรรมก้าวร้าว การควบคุมอารมณ์ต่ำ และอดทนรอคอยไม่ได้
การเรียน ผลการเรียนแย่ลง ไม่มีเวลาทบทวนบทเรียน
การเงิน ทางตรง เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าเข้าร้านเล่นเกม ค่าซื้อไอเท็ม และทางอ้อม เป็นการสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพและสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่การเล่นเกมทำให้ความสามารถถดถอย ซึ่งเป็นการสูญเสียตัวเงินที่มองไม่เห็น
วิธีป้องกันการติดเกม
สร้างวินัยในชีวิตประจำวัน จำกัดชั่วโมงการเล่น หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำกับเพื่อนหรือครอบครัว ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าถึงมือถือหรือคอมพิวเตอร์โดยไม่มีการควบคุม วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่โล่ง ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง
การรักษาอาการติดเกม สิ่งที่ดีที่สุด คือ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ต้องเปลี่ยนและปรับพฤติกรรมต่าง ๆ พูดคุยปรึกษากันในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องที่พ่อแม่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกมของลูก