หูตึงต้องทำอย่างไร

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : อ.พญ.เนาวรัตน์ ตั้งบำรุงธรรม 
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

หนึ่งในปัญหาที่ผู้สูงอายุไม่อยากเจอมากที่สุด คืออาการหูตึง แม้จะไม่ใช่อาการที่อันตรายเท่ากับโรคอื่น ๆ แต่ก็สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งปัญหาเรื่องการสื่อสารและการสูญเสียความมั่นใจ จนอาจนำไปสู่ภาวะเครียดและซึมเศร้าได้

หูตึงคืออะไร หูตึงคือภาวะที่เราได้ยินลดลง หรือได้ยินแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โดยกลุ่มเสี่ยงที่พบภาวะหูตึง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีประวัติการฟังเสียงดัง โดยคนที่หูตึงมักจะสื่อสารกับผู้อื่นได้ยากขึ้น ต้องถามซ้ำ ๆ หันหน้าไปหาคนพูดเพื่อฟังใกล้ ๆ เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดังขึ้น

สาเหตุของหูตึง โดยส่วนใหญ่ภาวะหูตึงเกิดจากการเสื่อมของประสาทหู การฟังเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา

วิธีลดความเสี่ยงอาการหูตึง หากไม่อยากหูตึงก่อนเวลาอันควร มีข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการหูตึง ดังนี้ คือหลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง หรือการใส่หูฟัง หากจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงดังควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง,

ระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อในหู หากมีการติดเชื้อควรรีบรักษา, หลีกเลี่ยงการกระแทกบริเวณหูหรือศีรษะ, ปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกชนิด เนื่องจากยาบางชนิดทำให้เกิดการได้ยินผิดปกติได้, คุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง

การรักษาหูตึง ปัจจุบันอาการหูตึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อชะลอการเสื่อมของเส้นประสาทหูได้ หูตึงเป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเราดูแลสุขภาพดีก็สามารถชะลอและลดความเสี่ยงการเกิดหูตึงก่อนเวลาอันควรได้

ADVERTISMENT