การใช้ฟลูออไรด์ในเด็ก

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ทพญ.ชุติมา จรรยาธรรม

ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ โดยทั่วไปสามารถพบได้ในน้ำและในอาหาร เช่น ผัก หรือสัตว์ทะเล

ฟลูออไรด์มีคุณสมบัติในการป้องกันฟันผุได้ เพราะในช่องปากของเรามีสมดุลความเป็นกรด ความเป็นด่างอยู่ เวลาที่รับประทานอาหารเข้าไป โดยเฉพาะน้ำตาล แบคทีเรียในช่องปากจะทำให้ค่าความเป็นกรดในช่องปากเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการละลายและกัดกร่อนของผิวเคลือบฟัน ฟลูออไรด์จะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างผิวเคลือบฟันกลับคืนมา

นอกจากนั้น ฟลูออไรด์ยังเข้าไปสะสมในเคลือบฟัน ทำให้เคลือบฟันทนต่อกรดในช่องปากมากขึ้น ฟลูออไรด์สามารถป้องกันฟันผุได้ประมาณ 30% เพราะฉะนั้น ฟลูออไรด์ไม่ใช่ยาวิเศษ ดังนั้น การแปรงฟันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการป้องกันฟันผุ

ฟลูออไรด์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ฟลูออไรด์แบบที่คนไข้สามารถใช้เองได้ที่บ้าน จะเป็นฟลูออไรด์ความเข้มข้นต่ำ เช่น ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่าย และยาเม็ดฟลูออไรด์ เป็นฟลูออไรด์ในรูปแบบเม็ด ซึ่งควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ และใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ นอกจากนั้น ยังมีฟลูออไรด์เจลที่ทันตแพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยเอาไปใช้ที่บ้านในกลุ่มคนไข้ อย่างเช่น กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่เกิดฟันผุง่าย เช่น กลุ่มที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและขากรรไกร อีกประเภทเป็น ฟลูออไรด์ชนิดที่ทันตแพทย์เป็นผู้เลือกใช้ จะใช้ในคลินิกทันตกรรมเท่านั้น จะเป็นฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งทันตแพทย์จะพิจารณาเลือกรูปแบบชนิดของฟลูออไรด์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์ได้ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นโดยใช้ในรูปแบบของยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยแนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน 1,000 PPM

สำหรับเด็กปริมาณยาสีฟันที่แนะนำให้ใช้ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ให้ใช้ปริมาณบาง ๆ เพียงแค่ยาสีฟันอยู่บนแปรงเท่านั้น ในเด็กกลุ่มนี้ยังบ้วนปากไม่เป็น หลังจากแปรงจึงต้องใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดให้แห้งเช็ดเอาฟองยาสีฟันออกให้หมดเพื่อไม่ให้เด็กกลืนเอาฟองยาสีฟันเข้าไป ส่วนในเด็กอายุ 3-6 ขวบให้บีบยาสีฟันตามความกว้างของแปรง ถ้าเด็กยังบ้วนไม่เก่ง ผู้ปกครองต้องช่วยเช็ดฟองยาสีฟันออกให้เด็กด้วย และในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ให้บีบยาสีฟันเต็มความยาวของแปรง ส่วนน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นวัยที่ควบคุมการบ้วนและการกลืนได้ดีแล้ว

นอกจากมีผลดีแล้ว ฟลูออไรด์ยังมีโทษได้เช่นกันหากได้รับปริมาณมากเกินไปในครั้งเดียว อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้ แต่หากได้รับปริมาณฟลูออไรด์สูงกว่าระดับที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อฟันแท้ ทำให้ฟันแท้มีลักษณะผิวฟันเป็นสีขาวขุ่น เรียกว่า ฟันตกกระ

เพราะฉะนั้น การใช้ฟลูออไรด์อย่างเหมาะสมและถูกต้องทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ จะเกิดประโยชน์ได้มากกว่าโทษอย่างแน่นอน

หมายเหตุ : ทพญ.ชุติมา จรรยาธรรม งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล