โรคเซลิแอก กับอาการแพ้กลูเตน

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร

กลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในอาหารจำพวกแป้งบางชนิด เช่น ข้าวหรือแป้งสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ คุณสมบัติคือทำให้อาหารมีลักษณะเหนียวนุ่ม จึงมักนำไปทำพวกขนมและเบเกอรี่ต่าง ๆ โดยกลูเตนมีประโยชน์ต่อร่างกายในเรื่องของการให้พลังงาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเช่นเดียวกับโปรตีนชนิดอื่น ๆ

แม้กลูเตนจะมีประโยชน์แต่ก็สามารถก่อโรคได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคเซลิแอก และการแพ้กลูเตน ซึ่งนับเป็นคนละโรคกัน หากเป็นอาการแพ้กลูเตนกลไกการเกิดจะเกิดเพราะเป็นการแพ้อาหาร โดยอาการมักจะเป็นทันทีหลังได้รับกลูเตน

ส่วนโรคเซลิแอกจะต่างจากการแพ้กลูเตน โดยอาการจะไม่เกิดทันทีที่รับประทานกลูเตน แต่เกิดจากการที่ร่างกายมีการสร้างสารต่อต้านภูมิคุ้มกันตนเอง ทำให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบจนฝ่อไปภายหลังจากได้รับกลูเตน และร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ตามปกติ อาการแสดงหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร ที่เด่นชัดคือ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมันลอย น้ำหนักลด ปวดเกร็งในท้อง ท้องอืด

หรืออาจจะมีอาการแสดงนอกระบบทางเดินอาหาร เช่น มีผื่น ปวดข้อ ปวดตามตัว ปวดศีรษะ บวม ซีด มีอารมณ์แปรปรวน ในบางรายอาการอาจจะรุนแรงจนเสียชีวิตได้ หากพบในเด็กอาจจะมาด้วยไม่ยอมกินอาหาร น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่องกล้องดูลักษณะการฝ่อของลำไส้เล็ก และการตรวจเลือดเพื่อดูแอนติบอดีที่ก่อโรค

การเกิดโรคเซลิแอกพบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย แต่โดยมากมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนมากมักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน ในประเทศไทยโรคที่พบและมีอาการคล้ายกัน คือ โรค trop-ical sprue อาการคือท้องเสีย ถ่ายเป็นมันลอย ปวดท้อง น้ำหนักลด ซึ่งคล้ายกันกับโรคเซลิแอก โดยโรคนี้จะเกิดในเขตร้อน สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจพบหลังการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

สำหรับการแยกระหว่างอาการแพ้กลูเตนและโรคเซลิแอก คือในคนที่แพ้กลูเตนมักมีการแพ้อาหารอย่างอื่นร่วมด้วย และเกิดขึ้นทันทีภายหลังเมื่อรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเข้าไป แต่เซลิแอกต้องให้เวลาร่างกายสร้างภูมิต้านทานกระทั่งร่างกายแพ้ภูมิต้านทานของตัวเองเสียก่อน ซึ่งใช้เวลามากกว่าในการแสดงอาการแพ้ โดยจะตรวจพบแอนตีบอดีในเลือดด้วย

การรักษาสำหรับคนที่แพ้กลูเตนและในคนที่เป็นโรคเซลิแอก คือการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตน ร่างกายก็จะดีขึ้นและหายเป็นปกติได้ในที่สุด แต่ถ้าหากได้รับเข้าไปอีกร่างกายก็จะแสดงอาการใหม่

ข้อแนะนำในการรับประทานอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคเซลิแอกและคนที่แพ้กลูเตน ควรศึกษาชนิดและฉลากของอาหารให้ดีก่อนว่ามีส่วนผสมที่มีกลูเตนอยู่ด้วยหรือไม่ เช่น อาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม เป็นต้น ที่ผู้ป่วยภาวะดังกล่าวต้องหลีกเลี่ยง

หมายเหต : อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล