วิธีบำบัดอาการป่วยทางจิตให้ได้ผล

วิธีบำบัดอาการป่วยทางจิตให้ได้ผล

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ผศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร

อาการป่วยทางจิตเป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหลายครั้งนำมาซึ่งผลเสียที่พบบ่อยในสังคม เช่น อาการหวาดระแวง อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชถูกมองเป็นคนน่ากลัว หรือถูกอคติจากสังคม แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น โรคดังกล่าวสามารถบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ เริ่มต้นที่คนในครอบครัวผู้ป่วยเอง

อาการป่วยทางจิตเวชเกิดจากการที่สารเคมีสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ ส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก เนื่องจากสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในสมองนั้นส่งผลทางด้านความคิด การรับรู้ และการใช้ชีวิตในสังคม

– ผลกระทบต่อความคิด คือ ผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด หรือคิดว่าจะมีคนมาทำร้ายทั้งที่ไม่มี

– ผลกระทบต่อการรับรู้ต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น แต่สมองรับรู้ขึ้นมาเป็นความผิดปกติ เช่น อาการหูแว่ว ซึ่งพบบ่อยในโรคจิตเภท หรืออาการเห็นภาพหลอน ที่พบบ่อยในกลุ่มอาการทางจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาททำงานผิดปกติ

– ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีสมาธิเนื่องจากความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติรบกวน

วิธีการสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายผู้ป่วยอาการทางจิตเวชหรือไม่นั้น คือ ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม โดยอาจจะมีความเครียดนำมาก่อน ที่สำคัญถ้าอาการเหล่านั้นส่งผลให้ไม่สามารถเรียนหนังสือ หรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ตลอดจนการดูแลตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่นก็ควรจะรีบมาพบแพทย์

การบำบัดรักษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การบำบัดโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา การใช้ยาคือการปรับสารเคมีในสมองที่เป็นสาเหตุของโรคให้มีความสมดุล หรือรักษาอาการป่วยทางร่างกายที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคติดเชื้อในสมอง ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยาจะเน้นเรื่องการดูแลจิตใจของตนเอง ไม่มุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เพราะอาจทำได้ยากกว่า สามารถปรับตัวกับปัญหาต่าง ๆ มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความคาดหวังที่เกิดขึ้น และปรับความคาดหวังให้ตรงกับความเป็นจริง

การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ มีดังนี้

1.การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก เพื่อรักษาได้เร็วและต่อเนื่องโดยเฉพาะการรับประทานยาซึ่งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาเอง เนื่องจากจะทำให้โรคกลับมาเป็นซ้ำได้

2.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด

3.ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่ให้คุณค่ากับอารมณ์ ความรู้สึก เช่น งานอดิเรก กิจกรรมทางศาสนา

4.ส่งเสริมความเข้าใจในตัวโรคและการดูแลผู้ป่วยกับคนในครอบครัวและสังคม เพราะคนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรทำความเข้าใจ ไม่มองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลอันตราย หรือแสดงอาการหวาดกลัวผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรง เพราะอาจส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้น

การเปิดใจรับฟัง พูดคุย รวมถึงให้กำลังใจผู้ป่วยจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป


หมายเหต : ผศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาคจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล