ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน: ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองอย่างไร?

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.นพ.กุลพัชร จุลสำลี

โรคกระดูกพรุน หมายถึง โรคที่ความแข็งแรงของกระดูกลดลงจนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเหตุที่อุบัติเหตุเล็กน้อยก็อาจจะทำให้กระดูกหักได้ ความสำคัญและอันตรายของโรคนี้คือ ถ้าเป็นปกติโดยทั่วไปเดินหกล้มบนพื้นราบธรรมดา เราจะไม่เป็นอะไร อย่างมากอาจจะข้อเท้าพลิก เจ็บมือนิดหน่อย เอามือยันพื้นได้ แต่กลุ่มคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน ถ้าลื่นล้มบนพื้นราบก็อาจจะทำให้เกิดกระดูกหักได้ ถ้ามือยันพื้นข้อมือจะหัก ถ้าสะโพกกระแทกพื้นสะโพกจะหัก

สาเหตุของกระดูกพรุน คือ ปกติกระดูกของเราจะมีการสร้างและการทำลายกระดูกอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงอายุก่อน 30-35 ปี จะมีการสร้างมากกว่าการทำลาย เพราะฉะนั้น กระดูกจะค่อย ๆ แข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นช่วง 5-10 ปีหลังจากอายุ 30-35 ปี มวลกระดูกจะคงที่ คือมีการสร้างและการทำลายที่สมดุลกัน หลังจากผ่านระยะนั้นไปคือ ประมาณอายุ 40 ปีเป็นต้นไป การทำลายกระดูกจะเริ่มมากกว่าการสร้าง เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติของเรากระดูกจะค่อย ๆ บางลงเรื่อย ๆ จากการทำลายกระดูกที่มากกว่าการสร้างกระดูก ดังนั้นยิ่งเราแก่ตัวไป กระดูกก็จะค่อย ๆ บางไปตามธรรมชาติ ระดับของกระดูกพรุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมมวลกระดูกตั้งแต่ช่วงอายุแรกเกิดจนถึง 30 ปีไว้มากน้อยแค่ไหน

อีกประเด็นหนึ่งเรื่องปัจจัยที่ทำให้เราเป็นกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร คือ โรคประจำตัวต่าง ๆ และลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับโรคข้อ โรครูมาตอยด์ คนที่เป็นโรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์ หรือต่อมหมวกไตมีปัญหา หรือกลุ่มที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนก่อนวัยอันควร ส่วนลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยงจะเป็นกระดูกพรุน ได้แก่ กลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

อาการ โรคนี้จะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อกระดูกหักไปแล้ว เพราะฉะนั้น การตระหนักถึงโรคนี้ การรู้ถึงความเสี่ยง การย้อนกลับไปมองตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงหรือเปล่า จากนั้นเราถึงจะไปพิจารณาพบแพทย์ เพื่อที่จะตรวจมวลกระดูก หรือคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนมี 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ 1.การตรวจมวลกระดูก 2.การคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก เรียกว่า การคำนวณ frax score โดยจะดูจากเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว การกินยาสเตียรอยด์ รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีประวัติเป็นกระดูกพรุน

การรักษาโรคกระดูกพรุนจะรักษาด้วยยา ทั้งการกินยา หรือฉีดยารักษา ซึ่งไม่ว่าจะรักษาแบบกินหรือฉีด ผู้ป่วยก็ควรจะไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและรับยาอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนเรื่องการดูแลตัวเอง มี 3 ข้อ ได้แก่

  1. ระวังเรื่องพลัดตกหกล้ม เนื่องจากหากล้มนิดเดียวก็อาจจะกระดูกหักได้
  2. ต้องหมั่นไปเจอแสงแดดอ่อน ๆ วันละประมาณ 15 นาที เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน D ซึ่งวิตามิน D จะช่วยให้แคลเซียมจากอาหารหรือจากอาหารเสริมที่เรากินเข้าไปดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น
  3. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่าง ๆ เช่น การเดินเร็ว ๆ การวิ่งเหยาะ ๆ หรือการเต้นแอโรบิก สำหรับผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น

นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเรื่องมวลกระดูกแล้ว ยังช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อมีสมรรถภาพดี ซึ่งจะช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น อายุเยอะ ข้อเข่าเสื่อม ข้อสะโพกมีปัญหา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บางคนมีเรื่องโรคประจำตัว ซึ่งล้วนเป็นข้อจำกัดในการออกกำลังกายทั้งสิ้น แนะนำว่าอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องข้อจำกัดในการออกกำลังกายของเราว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนถ้าออกกำลังกายเหมาะสมจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้