ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ต้องรักษาให้ถูกต้อง

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ผศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร

ลำไส้อักเสบเรื้อรังสามารถแบ่งแยกกันเป็นหลายอย่าง คือ จะเป็นแบบติดเชื้อซึ่งก็ไม่ได้มีเชื้อโรคมากนักที่ติดเรื้อรังได้ แต่ส่วนใหญ่ที่คนพูดถึง คือ แบบที่ไม่ได้ติดเชื้อจริง ๆ แล้วมันจะมี 2 โรคใหญ่ในกลุ่มโรคนี้ ก็จะมีโรคที่เรียกว่า Crohn’s disease และ Ulcerative Colitis ก็คือลำไส้ใหญ่อักเสบ

สาเหตุการเกิดยังไม่ชัดเจนเท่าไร ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม อีกส่วนก็คือ คล้าย ๆ ภูมิต้านทานในร่างกายผิดปกติ อาจจะรุนแรงเกินไปแล้วไปทำร้ายตัวเองมากไปด้วย และจะมีส่วนของเรื่องแบคทีเรียในลำไส้ เราพบว่าทางตะวันตกจะมีอัตราการเกิดของโรคนี้มากกว่าทางตะวันออกนะครับ แต่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกิน เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยหรือของคนเอเชีย โรคนี้พบได้มากขึ้น ตัวโรคเองจะทำให้เป็นแผลในลำไส้ เป็น ๆ หาย ๆ บางทีก็ดีขึ้น บางทีก็แย่ลง

อาการลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจจะคล้ายกับโรคอื่นได้ อาจจะกลายเป็นมะเร็งลำไส้ก็ได้ หรือว่าเป็นการติดเชื้อในลำไส้ก็ได้ ดังนั้น การมาหาหมอ หมอก็จะสามารถช่วยวิเคราะห์ ส่องกล้องดูว่าตกลงมันใช่หรือไม่ใช่ พอรู้แล้วว่าเป็นโรค inflammato-ry bowel disease หรือ IBD เราก็จะได้วางแผนยาได้ถูก ถ้าไปทานอย่างอื่นแผลในลำไส้ก็อาจจะมากขึ้น ใหญ่ขึ้น หรืออาจจะทะลุก็ได้ ดังนั้น ยิ่งมาช้าก็จะยิ่งรักษายาก อาจจะต้องใช้การรักษาที่รุนแรงขึ้น เช่น ผ่าตัด ตัดส่วนที่อักเสบหรือเป็นแผลออก

ยาหลายอย่างเรามีการทดลองมาแล้ว เปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยาหรือใช้ยาแบบยาหลอด ก็พบว่ายาที่แพทย์ใช้ตอนนี้ได้ประโยชน์ แต่ก็จะมียาหลายอันที่เราเคยทดลองมาแล้วที่ไม่สำเร็จ ซึ่งในการรักษาเราจะใช้ยาหลังจากที่มีการวิจัย ส่วนยาที่ไม่มีการวิจัย ใครก็อ้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ผล อาจจะทำให้แย่ลงก็ได้ หรืออาจจะทำให้ตับแย่ลงก็ได้ ดังนั้น ส่วนตัวก็มักจะแนะนำว่าอย่าไปใช้เลย มาหาแพทย์ดีกว่า เพราะว่าเราจะได้ใช้ยาที่ถูกต้อง แล้วประเมินว่าได้ผลดีหรือไม่ บางอันสำหรับบางคนก็ไม่ได้ผล ก็ต้องไปเปลี่ยนตัวยาเพราะมียาหลายชนิดที่รักษาโรคนี้

ทำไมต้องรักษาให้ถูกต้อง

ทั้งสองโรคนี้ Crohn’s disease กับ Ulcerative Colitis (UC) ลำไส้ใหญ่อักเสบ ทั้งคู่ทำให้ลำไส้เป็นแผลได้ อาจจะมีการเลือดออก หรือท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือดได้ ถ้าเป็นเยอะ ๆ จะมีปัญหา จะท้องเสียบ่อยมาก เลือดออกด้วย แล้วถ้าไม่รักษาเลย แล้วเป็นมาก ก็อาจจะลำไส้ทะลุได้ บางทีอาจจะดูดซึมอาหารไม่ได้ น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงต้องรักษาไม่อย่างนั้นอาจจะเสี่ยงต่อชีวิตได้

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่มีอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังต้องประเมินตัวเองดี ๆ ถ้าท้องเสียมากขึ้น ถ้ามีเลือดออก ต้องกลับมาหาแพทย์เร็วหน่อย

อีกอย่างคือ ตอนนี้ทางชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ของแพทย์โรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับชมรมของผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งเรียกว่า IBD’s friends เพื่อพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้

สำหรับผู้ที่คิดว่าเป็น อย่ารักษาตัวเองด้วยยาต้ม แนะนำว่าให้มาหาแพทย์โรคทางเดินอาหาร เพราะเราควรจะส่องกล้องดูว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะอาจจะเป็นโรคอื่นได้

หมายเหตุ : ผศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล