ปวดหัวตรงไหน บอกโรคอะไรบ้าง

Sick woman. (Photo by: BSIP/Universal Images Group via Getty Images)

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร

อาการปวดหัวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน คนส่วนมากก็คงเคยประสบอาการกับตัวเองมาบ้าง ทั้งนี้ อาการปวดหัวนั้นมีหลายแบบ และเกิดขึ้นหลายตำแหน่ง ซึ่งการปวดหัวในตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะพอบอกโรคคร่าว ๆ ได้บ้าง

อาการปวดแบบไหน ปวดตำแหน่งไหนบ่งบอกโรคอะไร ขออธิบายให้ฟังกันดังนี้

1.โรคปวดศีรษะที่พบมากที่สุด เป็น โรคปวดหัวที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ ตำแหน่งที่ปวดศีรษะที่พบบ่อยคือ ตำแหน่งบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง บางครั้งร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย อันนี้เป็นภาวะที่สัมพันธ์กับความเครียดด้วย

2.ปวดศีรษะจากโรคไมเกรน มีอาการปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ อาจจะปวดสลับกันได้ระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวา และเวลาปวดบางครั้งอาจจะมีปวดร้าวเข้ามาที่กระบอกตาร่วมด้วย ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และขณะที่มีอาการปวด ถ้าอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดังหรือว่ามีกลิ่นฉุนอาการจะแย่ลง

3.ปวดอันต่อไปก็เป็นปวดที่พบบ่อยคือ ปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างมาจนถึงบริเวณหน้าผากด้วย หรือว่าปวดตรงบริเวณดั้งจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส ถ้าเกิดมีการอักเสบของไซนัส คนไข้จะมีอาการปวดที่ตรงตำแหน่งนี้

4.ปวดที่เกิดจากการอักเสบของกราม มักจะมีอาการปวดบริเวณหน้าใบหู ซึ่งสัมพันธ์กับการเคี้ยวอาหารร่วมด้วย

คนไข้บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีการกัดฟันตอนเวลานอน ตื่นเช้ามาก็รู้สึกว่าเวลาขยับปากหรือเวลาเคี้ยวอาหารจะรู้สึกปวดบริเวณหน้าใบหู อาจจะสัมพันธ์กับภาวะกระดูกกรามหน้าใบหูอักเสบได้

5.อาการปวดอาจจะมาจากโรคที่ร้ายแรงมากกว่านั้นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือว่าโรคเนื้องอกสมอง ซึ่งพวกนี้ อาการปวดจะมีลักษณะรุนแรง มีการปวดที่รุนแรงมากขึ้นชนิดที่ว่า ในชาตินี้ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน ไม่เคยปวดแบบนี้จนถึงอายุเกิน 50 ปี อันนี้เราก็เริ่มสงสัยแล้วว่าเข้าข่ายนี้ นอกจากนี้อาจจะมีอาการมองเห็นที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเห็นภาพซ้อน หรือว่ามองเห็นไม่ชัด มีการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ร่วมด้วย หรือบางคนอาจจะมีลักษณะพฤติกรรมที่ผิดปกติไปกว่าเดิม รวมไปถึงชัก

เมื่อมีอาการเหล่านี้ (ในข้อ 5) แนะนำให้มาพบแพทย์โดยเร่งด่วน หรือว่าอาการปวดศีรษะที่มีไข้หรือคอแข็งร่วมด้วย พวกนี้อาจจะเป็นตัวบอกว่ามีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง อันนี้ก็แนะนำให้มาพบแพทย์เช่นกัน

หมายเหต : ผศ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล