เรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับการปฏิบัติตัว ในสถานการณ์โควิด-19

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

ตั้งแต่มีเรื่องของการระบาดของโควิด-19 นั้น คนส่วนใหญ่ก็มีความตื่นตัวด้านสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล และยังมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาอีกจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตัวในการป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ หรือเป็นคนแพร่เชื้อ รวมทั้งมีการป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอีกด้วย ทำให้มีคนมาฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำปี รวมทั้งวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย นิวโมคอคคัส กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่หลาย ๆ คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น

แล้วมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานั้นมีอะไรบ้าง แล้วเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร ก่อนอื่นขออธิบายคำศัพท์ก่อนนะคะ เพราะว่ามีความสับสนกันมาก เพราะบางอย่างเป็นมาตรการที่คล้ายหรือขนานกันไปในแง่การปฏิบัติตัว ดังนี้

social distancing หรือ physical distancing การเว้นระยะห่างทางกายภาพจากบุคคลอื่น สำหรับบุคคลทุกคนที่อาจจะมี หรือไม่มีความเสี่ยงชัดเจน แต่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งมียอดผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นราววันละ 100 กว่าราย ได้แก่ การงดเข้าไปในที่แออัด พยายามยืนหรือนั่งห่างกัน 1.5-2 เมตร งดการรวมตัวกันในสถานศึกษา หรือสถานที่ทำงาน อาจเรียนหรือประชุมออนไลน์แทน งดการไปหรือจัดกิจกรรมในสถานบันเทิงต่าง ๆ รับประทานอาหารคนเดียว เลี่ยงการร่วมสำรับกับผู้อื่น

self-quarantine คือ การกักตัวดูอาการอยู่ที่บ้านสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันหรือผู้ที่ป่วยที่สงสัยว่าติดโควิด-19 รวมทั้งผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการติดต่อจากคนสู่คน และระบาดกว้างขวางภายในประเทศ หรือไปสถานที่ที่ประกาศว่ามีผู้ป่วยยืนยันในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น สนามมวย หรือผับ เป็นต้น ในกรณีนี้ผู้ป่วยควรอยู่ในที่พักอาศัยเท่านั้น พยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพจากบุคคลอื่นในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด หากเป็นไปได้ ควรใช้ห้องน้ำแยกกัน ทานอาหารหรือทำกิจกรรมสันทนาการแยกกันในห้องรับแขก รวมทั้งงดให้คนที่ไม่ได้อยู่เคหสถานเดียวกันมาเยี่ยม เป็นต้น

self-isolation คือ การแยกตัวเองหลังจากที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ในเบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลก่อน แต่ต่อมาเมื่อหายแล้วยังจำเป็นต้องแยกตัวเองต่อไปอีกเป็นเวลา 30 วัน เพราะแม้อาการดีแล้วก็ยังอาจจะยังมีไวรัสปริมาณไม่มากที่ยังออกมาในสารคัดหลั่ง อุจจาระ หรือปัสสาวะอยู่บ้าง หากอยู่บ้านต้องระวังไม่ให้ไปติดคนอื่นในบ้าน โดยปฏิบัติแบบ social dis-tancing และ self-quarantine

self-monitoring คือ วิธีการตรวจสอบตนเอง ว่ามีอาการผิดปกติที่อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19 หรือหากเป็นแล้ว รักษาจนหายดีให้กลับบ้านได้ ว่าจะมีอาการแย่ลงหรือไม่ ส่วนใหญ่จะมีการให้วัดไข้วันละ 2-3 ครั้ง สอบถามอาการและอาการแสดง เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หากมีอาการผิดปกติให้ติดต่อพบแพทย์ได้

สุดท้าย อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัว นอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารสุกสะอาด หลีกเลี่ยงการไปที่แออัด หากต้องไป พยายามยืนหรือนั่งแยกจากผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน ล้างมือบ่อย ๆ ทำตามมาตรการลดการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด เช่น ทำงานที่บ้าน งดเยี่ยมญาติ งดเว้นการออกจากบ้าน หรือเดินทางข้ามเขตจังหวัด ที่สำคัญคือมีความซื่อสัตย์ในการบอกประวัติเสี่ยงที่ถูกต้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ และมีระเบียบวินัยในการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ขอให้ทุกคนช่วยกันเพื่อประเทศไทยของเรามีกราฟผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยสะสมชันน้อยลง (flatten the curve) จนสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ได้อย่างเร็วที่สุด ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล