รู้จัก “อาการถอนสุรา” และวิธีการรักษา

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามา อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์

อาการถอนสุรา คือ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ เป็นประจำและปริมาณมาก หยุดหรือลดปริมาณการดื่มลงอย่างรวดเร็ว ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงได้

อาการถอนสุรามีลักษณะอย่างไรบ้าง

อาการชนิดไม่รุนแรง เกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง หลังหยุดหรือลดปริมาณการดื่ม และอาจหายภายใน 1-2 วัน ได้แก่ นอนไม่หลับ, มือสั่น ตัวสั่น, กระวนกระวาย วิตกกังวล, คลื่นไส้ พะอืดพะอม เบื่ออาหาร, ปวดศีรษะ, เหงื่อออกมาก, ใจสั่น ใจเต้นแรง

อาการชนิดรุนแรง เกิดขึ้นได้ภายในวันแรกหลังหยุดหรือลดปริมาณการดื่ม โดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มหนักหรือเคยมีอาการรุนแรงมาก่อน ซึ่งอาการต่าง ๆ นั้นเป็นได้นานเป็นสัปดาห์

  • ชัก โดยอาจมีอาการหมดสติ หรือลักษณะพฤติกรรมแปลกประหลาด ซึ่งอาการชักจากภาวะถอนสุรา มักเกิดภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากหยุดดื่ม
  • อาการประสาทหลอน ซึ่งคือการได้ยินเสียง เห็นภาพ รู้สึกทางผิวหนัง ได้กลิ่น หรือได้รับรสของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงตรงนั้น ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในภาวะถอนสุรา คือ อาการเห็นภาพหลอน
  • ภาวะเพ้อสับสนจากการถอนสุรา (delirium tremens) เป็นอาการที่รุนแรงที่สุด โดยมีอาการประสาทหลอน, สับสนวัน เวลา สถานที่ และบุคคล, กระวนกระวายมาก, ตัวสั่นควบคุมไม่ได้, หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตสูง, มีไข้, เหงื่อแตก

หากมีอาการรุนแรงให้มาพบแพทย์เพื่อรักษาทันที เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษา ส่วนในผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เช่นกัน มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับอาการถอนสุราหรือไม่

แพทย์มักจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูว่ามีโรคหรือความผิดปกติอื่นหรือไม่ ตัวอย่าง เช่น ตรวจเลือด, ตรวจปัสสาวะ, ส่ง CT scan บริเวณศีรษะ, เจาะตรวจน้ำไขสันหลัง

การรักษาอาการถอนสุรามีวิธีอย่างไร

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรงก็สามารถกินยา ดูแลรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้ แต่การจะทำเช่นนี้ ผู้ป่วยควรจะเข้าได้กับเงื่อนไข ดังนี้

  • มีญาติหรือเพื่อนที่อาศัยอยู่ด้วยเป็นเวลา 3-5 วัน เพื่อคอยดูให้แน่ใจว่าอาการไม่ได้แย่ลง
  • สามารถมาตรวจตามนัดได้
  • ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ ไม่มีโรคประจำตัว
  • ไม่มีปัญหาการใช้สารเสพติดอื่น ๆ
  • ไม่เคยมีอาการถอนสุราชนิดรุนแรงในอดีต

หากผู้ป่วยไม่ตรงตามเงื่อนไขข้างต้น หรือมีอาการรุนแรง มักจะได้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาหรือสารน้ำทางหลอดเลือดดำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาการถอนสุราทุกคนควรได้รับวิตามินรวมด้วย โดยเฉพาะวิตามินบี 1 และโฟลิก หลังจากนั้น แพทย์ หรือพยาบาล มักส่งตัวผู้ป่วยเข้าโปรแกรมบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์

(แปลและเรียบเรียงจาก www.uptodate.com/contents/alcohol-withdrawal-the-basics)


หมายเหตุ : อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล