ผื่นแดงตามตัวเด็ก เสี่ยง “โรคฮีน็อค” ที่จะมีอาการรุนแรงตามมา

สุขภาพดีกับรามาฯ รศ.พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค

อาการผื่นแดงตามตัวในเด็กอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา ถ้าหากว่าอาการผื่นนั้นเกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะอื่นตามมา จึงควรเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มมีผื่นขึ้น โดยการพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ ยิ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็ก ยิ่งต้องระวัง

อาการผื่นแดงตามตัวที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบนั้น เรียกว่า “โรคฮีน็อค” โดยจะเกิดอาการบวมของเส้นเลือด มีจุดแดงขึ้นเหมือนผื่น ไม่คัน บางรายอาจรู้สึกเจ็บ เป็นกลุ่มโรคภูมิต้านทานทำร้ายตัวเอง มักเกิดจากพันธุกรรมหรือเกิดการติดเชื้อนำมาก่อน เมื่อติดเชื้อแล้ว ภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นเลือดฝอยเกิดการอักเสบ กลายเป็นโรคฮีน็อคในที่สุด

สาเหตุที่เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด ผู้ป่วยบางรายสามารถหายได้เองภายใน 6 เดือน สามารถพบได้ในทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบมากในเด็กเล็ก อายุ 2-5 ปี

อาการเริ่มต้นคือมีผื่นขึ้นตามก้น ขา และเท้า รวมทั้งมีอาการอื่นตามมา ได้แก่ ปวดข้อ ปวดท้อง และอาการไตอักเสบ ผู้ป่วย

โรคฮีน็อคอาจไม่ได้เป็นครบทุกอาการ แต่อย่างน้อยต้องมีผื่นขึ้นหนึ่งอาการ และมีอีกหนึ่งอาการตามมา

อาการปวดข้อของโรคฮีน็อคนั้นเกิดจากข้ออักเสบ อาจเกิดที่ข้อเท้า หรือข้อเข่า เป็นต้น ส่วนอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเส้นเลือดในลำไส้เกิดการอักเสบ

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะปวดท้องมาก บางรายมีเลือดออกในกระเพาะ หรือในลำไส้ อาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย หรือบางรายมีอาการลำไส้กลืนกันจนขาดเลือด อาจทำให้เกิดการทะลุได้ อาการน่าเป็นห่วงที่สำคัญก็คืออาการไตอักเสบที่อาจพัฒนาไปเป็นไตวายได้

การรักษาโรคฮีน็อค แพทย์จะให้ยาและเฝ้ารักษาตามอาการ มีการนัดตรวจปัสสาวะทุกเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเฝ้าระวังอาการทางไตที่จะตามมาหลังจากผื่นขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือ หากพบว่ามีผื่นขึ้นใน

เด็กเล็กควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ โดยผู้ป่วยโรคฮีน็อคส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์คือ เด็กเล็กที่ไม่ยอมเดิน และมีผื่นขึ้นมาก อีกทั้งลักษณะของผื่นค่อนข้างน่ากลัว

หมายเหตุ : รศ.พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล