หน้าฝนนี้ต้องระวังเห็ดพิษ อันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

หาเห็นในป่า
Photo by PHILIPPE HUGUEN / AFP
สุขภาพดีกับรามาฯ 
ผศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย

แม้ว่าส่วนใหญ่เห็ดจะสามารถรับประทานได้และมีประโยชน์ แต่เห็ดบางชนิดก็มีพิษที่ร้ายแรง สามารถทําลายตับ ไต กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อาการที่พบบ่อยหลังจากที่รับประทานเห็ดพิษ ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการในระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย

ในประเทศไทยฤดูฝนเป็นช่วงที่มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ประชาชนจึงมักนิยมเก็บเพื่อมาปรุงอาหารหรือนำมาขาย ซึ่งทุกปีจะพบผู้ป่วยที่เกิดพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ เห็ดทั้ง 2 กลุ่มนี้บางชนิดมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกได้และเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดที่รับประทานได้ นอกจากนี้แล้วเห็ดพิษหลายชนิดจะมีสารพิษที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม หรือผัด ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

ในช่วงปีนี้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการปรึกษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษจากทั่วประเทศมาเป็นจำนวนมาก เฉพาะตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2563 มีผู้ป่วยจากทั่วประเทศจำนวน 202 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (51%), ภาคใต้ (19%) ภาคตะวันออก (14%) ส่วนในภาคอื่น ๆ พบประมาณภาคละ 2-5%

อาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษ และเกิดอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่

– พิษต่อระบบทางเดินอาหาร จำนวน 141 ราย

– พิษต่อตับ ทำให้เกิดตับอักเสบและบางรายเกิดอาการรุนแรงจนมีตับวาย 36 ราย

– พิษต่อกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสลาย มีเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ หรือบางรายมีไตวายร่วมด้วย จำนวน 21 ราย

ผู้ป่วยหลายรายมีอาการพิษเกิดขึ้นในหลายระบบ และมีผู้ป่วย 4 รายที่มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต

ทางศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี จึงขอให้ประชาชนที่นิยมรับประทานเห็ดป่าที่เก็บตามธรรมชาติ โปรดระวังอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ หากเป็นไปได้ขอให้งดการเก็บและรับประทานเห็ดป่า หรือที่เก็บตามธรรมชาติไปก่อน หรือให้เลือกกินเห็ดที่รู้ชนิดแน่นอนว่าเป็นชนิดที่รับประทานได้

ส่วนความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น เรื่องการตรวจแยกว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด หรือการนำไปต้มกับข้าวสาร ถ้าเป็นเห็ดพิษช้อนหรือข้าวจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอ้างอิงได้ว่าวิธีการเหล่านี้สามารถใช้ทดสอบเห็ดพิษได้จริง ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีการเหล่านี้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด

ในกรณีที่ประชาชนสงสัยว่ารับประทานเห็ดพิษ หรือมีอาการผิดปกติหลังรับประทาน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยติดต่อสอบถามที่โทรศัพท์สายด่วน 1367 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


หมายเหตุ : รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล