อาการ การป้องกัน “ต้อกระจก” หนึ่งโรคสายตายอดฮิต

สุขภาพดีกับรามาฯ รศ.พญ.เกวลิน เลขานนท์

โรคต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น ไม่ใสเหมือนปกติ ทำให้มองไม่ชัด หรือคุณภาพการมองเห็นลดลง สาเหตุของโรคแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.ปัจจัยภายใน ได้แก่ วัยที่เพิ่มมากขึ้น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน เป็นต้น

2.ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การผ่าตัดภายในดวงตา การอักเสบภายในดวงตา อุบัติเหตุบริเวณดวงตา และยากลุ่มสเตียรอยด์ นอกจากนี้แสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต ที่เรามักเรียกกันสั้น ๆ ว่าแสงยูวี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกได้เช่นกัน

อาการของโรคต้อกระจก

ระยะแรก ผู้ป่วยมักมีการมองเห็นลดลง จากการที่ต้อกระจกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา ได้แก่ สายตาสั้น หรือสายตาเอียง และเมื่อโรคเป็นมากขึ้น อาการตามัวจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเลนส์แก้วตามีความขุ่นมากขึ้น

ส่วนระยะสุดท้าย เมื่อต้อกระจกเป็นจนสุก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ต้อหิน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง อันเนื่องมาจากความดันตาสูงขึ้น การมองเห็นลดลงเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

การรักษา

ในระยะแรกที่คนไข้มีการมองเห็นลดลงจากภาวะสายตาสั้น หรือสายตาเอียง สามารถรักษาโดยการใช้แว่น เพื่อให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น

ระยะต่อมาที่โรคเป็นมากขึ้น การใส่แว่นไม่ช่วยให้การมองเห็นกลับมาดีขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อกระจก ซึ่งคือการผ่าตัดนำเลนส์ต้อกระจกที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปทดแทน

การป้องกัน

-หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ โดยไม่ซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์

-ป้องกันอุบัติเหตุที่ดวงตา ได้แก่ การใส่แว่นตาป้องกันดวงตา ในกรณีที่ทำกิจกรรม หรือทำงานที่มีความเสี่ยงในการเกิดการกระทบกระแทกบริเวณดวงตา

-ใส่แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสงยูวี

-หากมีโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ เพื่อไม่ให้เกิดโรคต้อกระจกเร็วกว่าวัยอันควร


หมายเหตุ : รศ.พญ.เกวลิน เลขานนท์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล