ความรู้เบื้องต้น “โรคติดเชื้อเอชไอวี” ที่ไม่เท่ากับ “เอดส์” เสมอไป

สุขภาพดีกับรามาฯ พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) จัดเป็นโรคติดต่อที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำได้คือ “การป้องกันอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี”

เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นระยะท้ายของการติดเชื้อเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคแทรกซ้อนได้ เชื้อจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซีดีโฟร์ (CD4) ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายลดต่ำลง

ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น รวมทั้งมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดีพอสมควร เราจะเรียกว่า “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ส่วนผู้ที่ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนกระทั่งมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส เราจะเรียกว่า “ผู้ป่วยเอดส์”

เมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้วต้องรับการรักษา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเป็นซ้ำ จนกว่าระดับภูมิคุ้มกันโรคหรือซีดีโฟร์จะสูงขึ้นเพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีได้ในระดับหนึ่งด้วยภูมิของร่างกายเอง

เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำลาย เสมหะ และน้ำนมมีปริมาณเชื้อเอชไอวีน้อย สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระแทบไม่พบเลย ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่

1.การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคได้ทั้งสิ้น จากข้อมูลระบาดวิทยาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

2.ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด

3.การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อเอชไอวีผ่านผิวสัมผัสที่เป็นแผลเปิดหรือรอยถลอก รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ

4.การติดต่อจากแม่สู่ลูก ทั้งระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่

5.การรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อเอชไอวีปนเปื้อน ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกขวดต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อ

หากสงสัยว่าได้รับเชื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อกินยาต้านเชื้อเอชไอวีแบบฉุกเฉินหรือยา PEP (เพ็ป) ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ สามารถกินยา PrEP (เพร็ป) ซึ่งเป็นยาที่กินก่อนที่จะได้รับเชื้อหรือป้องกันเชื้อเอชไอวีได้

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่

1.ปริมาณเชื้อที่ได้รับ หากได้รับเชื้อในปริมาณมากก็มีโอกาสติดเชื้อสูง

2.การมีบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีสูง เพราะเชื้อสามารถเข้าสู่บาดแผลได้ง่าย

3.ความถี่ในการสัมผัสเชื้อ หากมีการสัมผัสเชื้อเอชไอวีบ่อย โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจะสูง

4.สุขภาพของผู้รับเชื้อ หากสุขภาพอ่อนแอจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

5.การติดเชื้อผ่านแผลเริม เนื่องจากแผลเริมจะมีเม็ดเลือดขาวอยู่ที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อจากการหายใจ จามรดกัน การกินอาหารร่วมกัน การใช้ภาชนะเครื่องครัว จาน ชาม แก้วน้ำร่วมกัน การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน การเล่นกีฬาหรือว่ายน้ำในสระเดียวกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ในห้องเรียน หรือยานพาหนะเดียวกัน การอาศัยอยู่ร่วมกัน การสัมผัสหรือกอดกัน การถูกยุงหรือแมลงกัด

โดยทั่วไป เชื้อเอชไอวีเมื่อออกมานอกร่างกายของผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด ความร้อน ความแห้ง ภาวะกรด-ด่าง อีกทั้งเชื้อไม่สามารถอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์อื่นได้ ถ้าถูกน้ำยาฆ่าเชื้อหรือสารเคมีก็จะยิ่งมีอายุสั้นลงไปอีก หรือแม้แต่สบู่หรือผงซักฟอกตามบ้านเรือนก็สามารถทำให้เชื้อเอชไอวีอายุสั้นลงได้

หมายเหตุ : พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล และอาจารย์ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์แพทย์ ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล