อาการและวิธีการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี

Photo AFP
สุขภาพดีกับรามาฯ
พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา และ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีไปแล้ว สัปดาห์นี้คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ จะให้ข้อมูลอาการและวิธีรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีต่อเนื่องเลย

โรคติดเชื้อเอชไอวีมีระยะการติดเชื้อ 4 ระยะ ดังนี้

1.ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ ระยะนี้นับตั้งแต่ร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีจนถึงช่วงที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวีขึ้นมา ในช่วงแรกที่ติดเชื้อปริมาณไม่มากและยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา อาจยังตรวจหาเชื้อหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไม่พบ ซึ่งอาจเป็นช่วงตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก

อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทั่วไป ผู้ติดเชื้ออาจซื้อยากินเองหรือไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้ บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อบางรายจึงอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะนี้

2.ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้จึงสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier) ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการแต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคจนมีจำนวนลดลง เมื่อลดต่ำลงมาก ๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย

ทั้งนี้ อัตราการลดลงของระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ติดเชื้อเอง ระยะนี้คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี แต่มีกลุ่มผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ที่ระยะนี้อาจสั้นเพียง 2-3 ปี ซึ่งเรียกว่า กลุ่มที่มีการดำเนินโรคเร็ว (rapid progressor) ในขณะที่ประมาณร้อยละ 5 จะมีการดำเนินโรคช้า โดยบางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป เรียกว่า กลุ่มที่ควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (elite controller)

3.ระยะติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันโรค ดังนี้

– อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย โรคเชื้อราที่เล็บ แผลร้อนในในช่องปาก ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก ฝ้าขาวข้างลิ้นซึ่งขูดไม่ออก โรคสะเก็ดเงินที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ

– อาการปานกลาง ระยะนี้ถ้าตรวจระดับ CD4 มักจะมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ผู้ป่วยอาจมีอาการเริมที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อยและเป็นแผลเรื้อรัง งูสวัด โรคเชื้อราในช่องปากหรือช่องคลอด ท้องเสียบ่อยหรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 บริเวณ (เช่น คอ รักแร้ และขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย

4.ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจระดับ CD4 จะพบว่ามักมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โปรโตซัว วัณโรค ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยากและอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำ หรือชนิดใหม่ หรือหลายชนิดร่วมกัน

ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้ มีไข้เรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ไอเรื้อรังหรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอดหรือปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรังจากเชื้อราหรือโปรโตซัว น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้งและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบากหรือเจ็บเวลากลืนเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา

สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดหรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ตกขาวบ่อยในผู้หญิง มีผื่นคันตามผิวหนัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกจากเดิมเนื่องจากความผิดปกติของสมอง ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่นได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ จึงควรตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี ส่วนการรักษาปัจจุบันไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่จะกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปได้ มีเพียงยาที่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อ และยาที่ช่วยรักษาอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสหรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.ยาต้านไวรัส (ARV; antiretroviral therapy) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ชะลอการเกิดอาการป่วยเป็นเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว โดยต้องกินยาตลอดชีวิตแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรคก็ตาม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสภายใต้การตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดโดยไม่คำนึงถึงปริมาณของ CD4 ในช่วงการเริ่มยาและมีการปรับเปลี่ยนยาตามการตอบสนองของการรักษา เช่น ระดับ CD4, viral load หรือการเปลี่ยนแปลงของร่างกายผู้ป่วย เช่น มีโรคประจำตัวมากขึ้นตามวัย ทำให้อาจมีผลกระทบกับการรักษาหรือการทำปฏิกิริยาต่อกันของยาที่ทานเพื่อรักษาโรคอื่น เป็นต้น

นอกจากการใช้ยาควบคุมอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อหลังได้รับเชื้อและไม่ให้พัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์แล้ว วิธีการสำคัญในการรักษา คือ การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายเพิ่ม และป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปยังบุคคลอื่น

2.การรักษาโรคฉวยโอกาสและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะรักษาปอดอักเสบ ยารักษาเชื้อราในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ให้ยาต้านไวรัสรักษาโรคเริม เป็นต้น

หมายเหตุ : พว.วิภาวรรณ อรัญมาลา พยาบาลวิชาชีพ งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ฝ่ายการพยาบาล และ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล