การวินิจฉัยและรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

สุขภาพดีกับรามาฯ พญ.อัญชนา ทองแย้ม

จากผลการวิจัยทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศพบว่า การซักประวัติและการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัย หรือบอกถึงความรุนแรงขอภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำขึ้น

วิธีการตรวจวินิจฉัย ได้แก่

1.การตรวจภาพรังสี การถ่ายภาพทางรังสีบริเวณคอจะช่วยให้ทราบถึงขนาดและตำแหน่งของต่อมทอนซิล และหรืออะดีนอยด์ ที่อาจมีผลอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน

2.การตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับ พบว่าการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับตลอดคืนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แล้วนำมาสร้างเป็นกราฟ สามารถนำมาใช้เป็นการตรวจคัดกรองของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ ถ้าผลเป็นบวกผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นได้สูง แต่ถ้าผลเป็นลบไม่สามารถตัดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กออกไปได้ ยังต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบต่อ หรือส่งพบผู้เชี่ยวชาญต่อไป

3.การตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบ ยังถือว่าเป็นการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ดีที่สุด มีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะนี้ในเด็กที่มาด้วยอาการนอนกรนหรือหายใจลำบากขณะหลับ และช่วยแยกแยะความรุนแรงของโรค ช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของภาวะนี้ ตลอดจนผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

การรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

เบื้องต้นแนะนำให้ผู้ป่วยและผู้ปกครองเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ มลพิษ และสารกระตุ้นภูมิแพ้ต่าง ๆ ร่วมด้วย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการแน่นจมูก และเพิ่มแรงต้านทานของทางเดินหายใจส่วนบน และในผู้ป่วยที่น้ำหนักมากควรให้ลดความอ้วน

วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ได้แก่

1.การรักษาโดยการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และทอนซิล เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์โต พบว่าการผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และทำให้คุณภาพชีวิตตลอดจนปัญหาทางด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาแบบติดตามอาการ

2.การใช้ยา มีการนำยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ในรายที่ใช้ยาแล้วอาการกรนดีขึ้น แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอาจจะยังไม่หายขาด และหลังหยุดใช้ยาอาจมีอาการกลับมาได้ จึงควรติดตามอาการผู้ป่วยขณะใช้ยาและหลังจากหยุดใช้ยาแล้ว

3.การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องใช้ในกรณี

– ผู้ป่วยที่ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ แล้วยังมีอาการของการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหลงเหลืออยู่

– ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วน, โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และโครงสร้างใบหน้าผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้สำเร็จ

4.การรักษาโดยวิธีอื่น ๆ เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ปฏิเสธหรือไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ จะรักษาโดยการใช้ทันตอุปกรณ์ มีประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ร่วมกับมีการสบฟันผิดปกติ หรือมีคางร่น


หมายเหตุ : พญ.อัญชนา ทองแย้ม อาจารย์พิเศษประจำศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล