นอนดี…ชีวิตดี นอนไม่ดี…จะมีโรค

สุขภาพดีกับรามาฯ
อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล

โรคหัวใจวาย โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโรคที่อาจคาดไม่ถึงว่ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “การนอนที่ไม่ดี” ได้

ในทุก ๆ วัน เราใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการนอนหลับ ซึ่งการนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกช่วงวัยโดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น เช่นเดียวกันกับในวัยเรียนและวัยทำงานที่จำเป็นต้องใช้สมองในการคิดมาก ๆ ฉะนั้น เราอาจต้องหันกลับมาดูแล้วว่าชั่วโมงการนอนของเรานั้นเพียงพอและมีคุณภาพหรือไม่

วัยทำงานนั้นควรมีชั่วโมงในการนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง หากชั่วโมงการนอนหลับเพียงพอแล้วแต่กลับยังไม่สดชื่น มึนง่วงหลับ อาจต้องกลับมาพิจารณาถึงโรคทางการนอนหลับอื่น ๆ อีก เช่น โรคลมหลับ หรือคุณภาพการนอนว่ามีปัญหาหรือไม่ เช่น การนอนกรน ซึ่งบางคนอาจคิดว่า การกรนนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่แท้จริงแล้วการกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้

ส่วนมากแล้วเสียงกรนมักเกิดขึ้นจากทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบหรือหย่อนผิดปกติ เมื่อลมหายใจผ่านขณะหลับ อาจทำให้เกิดการชนกันของอวัยวะจนเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจและหยุดหายใจขณะหลับได้ ในบางรายอาจทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติได้ และอาจกระตุ้นให้เกิดการหายใจเฮือกขึ้นมาขณะหลับ ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกได้ว่ากลางดึกขณะหลับอยู่ต้องตื่นขึ้นมาหายใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้หลายอย่างตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะอาจทำให้ง่วง หลับในจนเกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้

ดังนั้น การนอนหลับจึงมีความสำคัญ เพราะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตทั้งในตอนหลับและตอนตื่น และยังมีโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้

ในเบื้องต้นควรฝึกสุขนิสัยการนอนหลับที่ดีก่อน โดยวัยทำงานควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง บางรายที่มีปัญหานอนไม่หลับทำให้ชั่วโมงการนอนไม่เพียงพอ ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุการนอนไม่หลับ เช่น คิดมาก ความเครียด และฝึกสุขนิสัยการนอนที่ดี เช่น ตื่น-หลับให้เป็นเวลา บรรยากาศห้องนอนควรมืด สบาย เงียบ ปัจจุบันหลายคนชอบนอนเล่นโทรศัพท์ ดูโทรทัศน์บนเตียง ซึ่งจะทำให้เกิดความเคยชิน เมื่อจะนอนจริงอาจนอนไม่หลับได้ และควรหลีกเลี่ยงกาเฟอีนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน

หากมีปัญหาการนอนกรนอาจทำให้คุณภาพการนอนหลับไม่ดี ซึ่งสาเหตุของแต่ละบุคคลอาจไม่เหมือนกัน เช่น อ้วน โคนลิ้นใหญ่ ต่อมทอนซิลโต ทางเดินหายใจหย่อนผิดปกติ เป็นต้น สำหรับการรักษาอาการนอนกรนมีหลายวิธี ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและสาเหตุการกรน รวมทั้งตำแหน่งแคบหย่อนของทางเดินหายใจ ซึ่งแพทย์อาจประเมินจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจส่องกล้อง และอาจส่งตรวจการนอนหลับ เป็นต้น

ส่วนการรักษาอื่น ๆ เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศ การผ่าตัด การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก เป็นต้น ในเบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติตัว เช่น หากอ้วนควรลดน้ำหนัก ควรนอนตะแคง ซึ่งอาจช่วยได้ในบางราย หลีกเลี่ยงยานอนหลับ แอลกอฮอล์ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาทส่วนกลางก่อนนอน และหากไม่ดีขึ้น มีปัญหาแทรกซ้อนตามมาหรือเสียงกรนทำให้คนข้าง ๆ นอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์


หมายเหตุ : อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล