จริงหรือไม่ ? ใส่รองเท้าส้นสูง เสี่ยงหมอนรองกระดูกเคลื่อน

สุขภาพดีกับรามาฯ
อ.นพ.สรวุฒิ ธรรมยงค์กิจ

หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นส่วนที่คั่นอยู่ระหว่างปล้องกระดูกสันหลังแต่ละปล้อง มีเปลือกภายนอกยืดหยุ่นได้แต่แข็งแรง ส่วนด้านในมีลักษณะนิ่มคล้ายเยลลี่ เมื่อมีภาวะเสื่อมหรือได้รับอุบัติเหตุจะทำให้เปลือกหุ้มฉีกขาด หมอนรองกระดูกส่วนในปลิ้นออกมา ก่อให้เกิดการอักเสบหรือกดทับเส้นประสาทได้

อาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อน

ส่วนใหญ่จะมีอาการปวด โดยขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น เช่น ปวดบริเวณคอ หลังหรือบริเวณเอว อาการปวดอาจร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทนั้นถูกกด เช่น แขน สะโพกหรือขา ข้างใดข้างหนึ่ง ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงได้

วิธีสังเกตอาการ

อาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกมักอยู่ลึกกว่าอาการปวดจากกล้ามเนื้อ กดไม่ค่อยเจ็บ หากสังเกตอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยา, ปวดเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์, มีอาการชา อ่อนแรง หรือปัสสาวะอุจจาระไม่ออกร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน

1.ความเสื่อมตามวัยที่สูงขึ้น

2.ภาวะน้ำหนักตัวเกิน BMI มากกว่า 25

3.อาชีพหรือกิจกรรมที่มีแรงกดต่อกระดูกสันหลังมากจะเพิ่มความเสี่ยง 3-4 เท่า

4.การนั่งหรือขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากท่านั่งจะเพิ่มแรงดันในหมอนรองกระดูก 40%

5.พันธุกรรมซึ่ง 32% ของผู้ป่วย พบว่า มีประวัติในครอบครัว

6.การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงประมาณ 2 เท่า

การรักษาในปัจจุบัน แบ่งเป็น

1.การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่ A.การรับประทานยา B.การพัก/ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานแผ่นหลัง C.การทำกายภาพ D.การฉีดยาเข้าโพรงประสาท

2.การรักษาแบบผ่าตัด A.เมื่อมีอาการปวดไม่ดีขึ้น, ชา หรืออ่อนแรงมากขึ้น, รบกวนคุณภาพชีวิต B.เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก โดยอาจผ่าตัดแบบแผลเปิดหรือส่องกล้องตามความเหมาะสม

การใส่รองเท้าส้นสูงเสี่ยงเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้หรือไม่

การใส่รองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้น้ำหนักตัวเอียงไปด้านหน้า ส่งผลให้มีการแอ่นตัวไปด้านหลังชดเชย และมีการเปลี่ยนแปลงแนวโครงสร้างของกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณหลัง เข่า และสะโพก ทำงานหนักผิดปกติ และมีอาการปวดกล้ามเนื้อได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเสื่อมและการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกอีกด้วย

วิธีการป้องกันในเบื้องต้นและระยะยาว

1.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป

2.ฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังและลำตัวให้แข็งแรง

3.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

4.หลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ลุกบริหารยืดกล้ามเนื้อทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง

5.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกดต่อกระดูกสันหลังมาก เช่น ยกของหนัก การก้ม ๆ เงย ๆ หรือกีฬาบางประเภท

คำแนะนำในการใส่รองเท้าส้นสูง

1.ไม่ควรสวมรองเท้าที่มีส้นสูงเกินกว่า 1-2 นิ้ว

2.หากจำเป็นต้องใส่ส้นสูง ให้ลดเวลาการยืนหรือเดินด้วยรองเท้าส้นสูง

3.ควรให้เท้าได้พักอยู่ในท่าปกติบ้างทุก ๆ 2 ชั่วโมง

4.ใช้รองเท้าที่หน้ากว้างพอที่รองรับเท้าได้ทั้งหมด

5.พื้นรองเท้าควรมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสม

—————


หมายเหตุ : อ.นพ.สรวุฒิ ธรรมยงค์กิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล