Shift work การดูแลสุขภาพการทำงานเข้ากะ

สุขภาพดีกับรามาฯ
ผศ.นพ.จาตุรนต์ ตั้งสังวรธรรมะ
ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์

 

การทำงานเข้ากะ (เวร) เป็นลักษณะงานที่พบได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น งานบริการทางการแพทย์ งานบริการขนส่งสาธารณะ งานที่ต้องประสานกับบริษัทต่างประเทศ รวมถึงลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น อาชีพที่มีลักษณะงานดังกล่าวนี้ ล้วนมีผลต่อสุขภาพของลูกจ้าง ส่งผลให้เกิดการรบกวนนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) กระบวนการขับเคลื่อนวงจรของการตื่นและการนอนหลับใน 24 ชั่วโมงของมนุษย์ไม่เหมาะสม

จึงมีความจำเป็นที่ลูกจ้างและนายจ้างต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และวิธีการปฏิบัติตัวต่อการทำงานลักษณะดังกล่าว ลักษณะการทำงานเข้ากะ (เวร) จะมีความหมายรวมถึง

– การทำงานที่มีตารางเวลานอกเหนือจากช่วงเวลา 7 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น

– การทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน หรือรวมกันมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ว่าการทำงานนั้นจะรับเงินค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม

“ทำงานเข้ากะ (เวร) สลับไปมา ไม่แน่นอน

การทำงานเป็นกะส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง ?

การทำงานเป็นกะ (เวร) จากข้อมูลด้านงานวิจัยพบว่ามีผลต่อสุขภาพของคนทำงาน ดังต่อไปนี้

– ความสามารถในการคิด หรือการจำลดลง ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานง่ายขึ้น

– ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ทั้งในและนอกเวลาทำงาน เช่น อุบัติเหตุจากการจราจร เป็นต้น

– ความอ่อนล้า อ่อนเพลีย สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง บางงานวิจัยกล่าวว่า อาการดังกล่าวคล้ายกับผู้ที่เมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยทีเดียว

– โรคในระบบทางเดินอาหารและโรคเรื้อรัง การทำงานเป็นกะ (เวร) เพิ่มโอกาสในการเกิดพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงการหาโอกาสในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้น้อย ส่งผลระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น

– เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อในร่างกาย และโรคมะเร็งบางชนิด สาเหตุจากภูมิต้านทานในร่างกายลดลง ส่งผลให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง บางงานวิจัยพบความสัมพันธ์ของการทำงานเข้ากะกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก

– ผลกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงความเครียดและอ่อนล้าจากการทำงาน ทำให้เกิดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บ่า ไหล่ และหลัง

– ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ เพิ่มโอกาสการเกิดภาวะแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง

– ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เกิดความเครียด ความคิดเชิงลบ ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกภาคภูมิใจในการทำงาน

ผลต่อสุขภาพนอกจากมีผลต่อลูกจ้างโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบสุขภาพและความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผลิตผลขององค์กรลดลงอันเนื่องมาจากโอกาสเกิดความผิดพลาดมากขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานของคนงานที่ลดลง อีกทั้งส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย


หมายเหตุ : ผศ.นพ.จาตุรนต์ ตั้งสังวรธรรมะ พบ.วว.เวชศาสตร์ครอบครัวโรงเรียนแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์, ผศ.พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล