การออกกำลังกายในผู้ป่วยมะเร็ง

สุขภาพดีกับรามาฯ
รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์

 

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความสำคัญอย่างไร

จากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มีโอกาสเสียชีวิตลดลง 30-42% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ออกกำลัง

การออกกำลังกายในช่วงก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษาโรคมะเร็ง มีความปลอดภัยและมีประโยชน์ เนื่องจากช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มพลังในการทำกิจวัตรประจำวัน และช่วยให้ปรับตัวกับผลข้างเคียงของการรักษา ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า อาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ การออกกำลังกายช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

การออกกำลังกายลักษณะใดที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

คำแนะนำจาก American Cancer Society (ACS) เกี่ยวกับการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีดังนี้

– พยายามไม่อยู่เฉย ๆ กลับมาใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติให้เร็วที่สุด หลังจากการวินิจฉัยและการรักษามะเร็ง

– พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ

– เริ่มต้นช้า ๆ และพยายามออกกำลังกายมากขึ้นเรื่อย ๆ

– ในแต่ละสัปดาห์ ควรออกกำลังกายปานกลางอย่างน้อย 150 นาที หรือออกกำลังกายอย่างหนักอย่างน้อย 75 นาที

– พยายามออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อย 10 นาที เป็นจำนวนหลายครั้งต่อสัปดาห์

– ควรจะออกกำลังกายแบบ resistance training และ stretching อย่างน้อยอย่างละ 2 วันต่อสัปดาห์

การออกกำลังกายสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่

มีข้อมูลจากหลายการศึกษาพบว่า ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย โรคมะเร็งที่พบได้น้อยลงในผู้ที่ออกกำลังกาย ได้แก่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งไต มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร

เหตุผลหนึ่งที่ทำไมการออกกำลังกายลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง คือ การออกกำลังกายช่วยให้น้ำหนักลด ป้องกันการอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง

หมายเหตุ : รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล