Runner’s Knee คืออะไร

วิ่ง
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามา
ผู้เขียน : อ. นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย

Runner’s Knee หรือโรคข้อเข่านักวิ่ง ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Patello-felmoral pain syndrome หรือบางคนก็เรียกว่า Biker’s Knee หรือโรคเข่านักปั่นจักรยาน

เนื่องจากกีฬาทั้ง 2 ประเภทนี้จะต้องมีการงอเข่า เหยียดเข่ามาก สอดคล้องกับอาการของโรคที่มีอาการปวดรอบ ๆ กระดูกสะบ้าเวลางอเข่า สาเหตุเกิดจากการที่กระดูกสะบ้าเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ

จนทำให้มีอาการปวดของเส้นเอ็นที่เชื่อมตรงบริเวณกระดูก หรือเกิดการเสียดสีกับกระดูกต้นขาจนเกิดการอักเสบและมีอาการปวด โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายใน

1.เพศ โรคนี้มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสรีระของผู้หญิงมีสะโพกที่ผาย มีกระดูกเอวที่กว้างกว่าผู้ชาย ทำให้มุมที่ลากไปจากจุดกึ่งกลางและกระดูกเอวไปยังหน้าลูกสะบ้ากว้างกว่า ส่งผลให้ลูกสะบ้ารับภาระมากกว่าจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าผู้ชาย

2.ปัจจัยด้านโครงสร้าง เช่น ภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ภาวะรูปเท้าผิดปกติ การวางตัว และการเคลื่อนที่ของลูกสะบ้าเข่าที่ผิดปกติ

3.ความตึงของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าขา และกล้ามเนื้อขาด้านข้าง หากไม่มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ดีพอก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคนี้ได้มากเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าปัจจัยภายใน ถ้าเป็นในแง่โครงสร้าง อาจไม่สามารถแก้ไขให้เป็นปกติได้ แต่อาจสามารถปรับเปลี่ยน และเสริมอุปกรณ์หรือรองเท้าที่ช่วยให้การกระจายน้ำหนักดีขึ้นได้ ส่วนความตึงตัวของกล้ามเนื้อนั้นหากยืดเหยียดเป็นประจำก็จะสามารถแก้ไขได้

ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนและควบคุมได้

1.ท่าทางการวิ่ง ควรวิ่งตัวตรง ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า ไม่ไขว้หรือแบะปลายเท้าขณะวิ่ง รวมไปถึงระยะการก้าวขาที่เหมาะสม ไม่ยาวเกินไป เพื่อลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้น

2.ความถี่ ความเร็ว และระยะเวลาที่ใช้ในการวิ่ง ควรเหมาะสม เช่น ถ้าไม่ได้วิ่งเป็นประจำ ไม่ควรลงวิ่งมาราธอน เป็นต้น

3.รองเท้าที่สวมขณะวิ่ง ควรมีสภาพที่เหมาะสมกับเท้าของเรา ไม่หลวมและรัดจนเกินไป

4.พื้นผิวที่เหมาะสมสำหรับใช้วิ่ง ควรวิ่งบนพื้นผิวที่เรียบ ยืดหยุ่นเล็กน้อย ไม่แข็งจนเกินไป รวมถึงไม่มีความลาดเอียง หรือชันมากเกินไป เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น หากรู้ว่าตัวเองมีอาการบาดเจ็บจากโรคข้อเข่านักวิ่ง ควรหยุดพักทันทีจนกว่าจะไม่มีอาการบาดเจ็บ เพราะหากฝืนวิ่งหรือปั่นจักรยานต่อไป โอกาสที่จะเกิดการอักเสบของลูกสะบ้า และเส้นเอ็นรอบ ๆ จะยิ่งหนักขึ้น และอาจหนักจนถึงขั้นไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้

อีกสิ่งที่ควรทราบ คือ โรคนี้แม้จะรักษาหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีกครั้ง หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น ลองสังเกตตัวเองขณะออกกำลังกาย มีการปรับท่าวิ่ง รวมทั้งออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคซ้ำได้ในอนาคตเช่นกัน