น้อมรำลึก 2 ปีเสด็จสวรรคาลัย มรดกล้ำค่า…องค์มหาราชาทรงมอบไว้ให้ปวงชน

เป็นเวลา 2 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวรรคต แม้พระองค์ท่านจากเราไปแล้ว แต่พระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านยังคงอยู่กับพวกเราชาวไทย ให้พวกเราได้รำลึกถึงและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,000 กว่าโครงการที่พระองค์ท่านทรงสร้างไว้ ยังคงนำประโยชน์มาสู่ประชาชนและแผ่นดินไทย นอกจากนั้นยังมีโครงการใหม่ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมายจากแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ได้รับการสานต่อ ยกตัวอย่างสิ่งที่เราเห็นเป็นรูปธรรมใหญ่ ๆ ที่สำเร็จขึ้นในห้วงเวลา 2 ปี หลังจากที่พระองค์ท่านสวรรคต ล้วนแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าราชการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานสานต่อ และเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำความดีเพื่อผู้อื่น

อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา รพ.ศิริราช รักษาชีวิตชาวประชา 

อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา รพ.ศิริราช เป็นอาคารสูง 25 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อทดแทนกลุ่มอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม แออัด ให้เพียงพอต่อการให้บริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา” นับเป็นอาคารสุดท้ายของศิริราชที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม

โครงการก่อสร้างอาคารหลังนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 2,000 ล้านบาท แต่งบประมาณที่ต้องใช้ก่อสร้างคือ 5,000 ล้านบาท และงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีก 1,800 ล้านบาท จึงมีการระดมทุนบริจาคต่อเนื่องมา และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนก่อสร้างอาคาร และต่อมาเมื่อปี 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานเงินสมทบทุน 100 ล้านบาท นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเมตตาต่อ รพ.ศิริราชและราษฎรไทย

ขณะนี้การก่อสร้างรุดหน้าไปกว่าร้อยละ 65 (อัพเดต ณ วันที่ 30 กันยายน 2561) ด้วยแรงสนับสนุนของคนไทยที่สานต่อการทำความดีเพื่อส่วนรวม และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงสานต่อความห่วงใยและพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อประชาชน

เมื่อแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ อาคารนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกประมาณ 500,000 รายต่อปี มีเตียงผู้ป่วยสามัญและด้อยโอกาส 376 เตียง รองรับผู้ป่วยใน 20,000 รายต่อปี มีศูนย์ความเป็นเลิศ 14 ศูนย์ หอผู้ป่วยวิกฤต 62 ห้อง ไม่มีห้องพิเศษ และยังมีหน่วยตรวจต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยอายุรกรรมประสาทวิทยา โรคไต จิตเวช กระดูกและข้อ รังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา เป็นต้น

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ชุบชีวาชาวปราจีน 

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการสุดท้ายที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 9 และเป็นอ่างเก็บน้ำ/เขื่อนโครงการสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาแล้วเสร็จเมื่อปี 2559 ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560

อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” และ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรก โดยให้กรมชลประทานไปพิจารณาวางโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวเนื่องจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงเป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการนี้ถึง 6 ครั้ง

วันที่ 27 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2561 รวม 9 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,300 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1.อ่างเก็บน้ำ เป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559

2.ระบบชลประทาน สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 111,300 ไร่ ประกอบด้วยระบบชลประทานฝั่งซ้ายความยาว 186 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 94,800 ไร่ ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ตำบลต่อทอง ตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี ระบบชลประทานฝั่งขวาความยาว 34 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 16,500 ไร่ ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563

อ่างเก็บน้ำห้วยโทก จากฎีกาชาวเขา พระเจ้าแผ่นดินปัดเป่าทุกข์ 

ณ พื้นที่ตีนเขา บ้านห้วยโทก ตำบลป่าพูล อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีชาวเขาชนเผ่ากะเหรี่ยงอพยพจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาตั้งรกรากและทำการเกษตรเลี้ยงชีพ ถึงแม้พื้นที่นั้นมีแม่น้ำไหลผ่าน แต่ฝั่งน้ำที่ชาวบ้านทำการเกษตรนั้นเป็นที่สูง ไม่สามารถนำน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จึงต้องอาศัยน้ำจากลำห้วยสาขาซึ่งมีน้ำน้อย ส่วนในหน้าฝนก็ต้องเผชิญปัญหาน้ำป่าไหลหลาก เรียกว่าต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำตลอดทั้งปี

เพื่อหาทางแก้ปัญหา ชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหลายครั้ง แต่ทุกครั้งได้รับคำตอบว่า งบประมาณไม่เพียงพอ ต่อมาชาวบ้านจึงหวังพึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ใหญ่บ้านศรีวรรณ นำมา จึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552

สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) จึงทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้กรมชลประทานพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะ พร้อมแนวทางช่วยเหลือเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโทกพร้อมระบบส่งน้ำและบ่อพักน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2559 กรมชลประทานเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2560

ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากอ่างนี้คือ กักเก็บน้ำ 390,000 ลูกบาศก์เมตรส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 500 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับการอุปโภคได้ประมาณ 250 ครัวเรือน และช่วยบรรเทาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน

นอกเหนือจาก 3 ตัวอย่างนี้ ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริไว้ และจะถูกสานต่อเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ เหมือนดั่งมรดกที่ “พ่อ” ทรงมอบไว้ให้ลูกทุกคนในแผ่นดิน ซึ่งเราชาวไทยจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านไม่รู้ลืม