เรียนรู้แก้มลิงธรรมชาติแห่งแรกของไทย “โครงการหนองใหญ่ จ.ชุมพร” พร้อมตามรอยศาสตร์พระราชา

หนึ่งในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือ “โครงการแก้มลิง” แนวทางการบริหารจัดการน้ำที่พระองค์พระราชทานไว้เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยมีแนวคิดมาจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชกระแสอธิบายไว้ว่า “…ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง…”

หนึ่งในโครงการแก้มลิงที่พระองค์มีพระราชดำริให้จัดทำขึ้นก็คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร” แก้มลิงขนาดใหญ่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ใน จ.ชุมพร เมื่อปี 2540 จนกระทั่งปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังช่วยให้ชาวชุมพรมีน้ำไว้ใช้ประโยชน์อีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสเยี่ยมเยือนโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร หรือที่เรียกกันว่า “แก้มลิงหนองใหญ่” ที่ปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาด้วย

“บุญเชิญ ดำคำ” ผู้จัดการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา เล่าให้ฟังว่า แก้มลิงที่นี่ถือเป็นแก้มลิงธรรมชาติแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นแก้มลิงที่ในหลวง ร.9 ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง ควบคุมการสร้างด้วยพระองค์เอง ที่สำคัญงบประมาณมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ด้วย

“รูปแบบแก้มลิงที่นี่จะลักษณะลัดเลาะไปตามธรรมชาติ บางพื้นที่มีลักษณะกว้าง ลึก บางพื้นที่มีลักษณะแคบ แต่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยพื้นที่โครงการทั้งหมดกว่า 1,900 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขุดเป็นตัวอ่าง 200 ไร่ มีความลึกประมาณ 4 เมตร จุน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสำหรับตัวแก้มลิงนั้น วัตถุประสงค์หลักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งให้ทำก็เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับ จ.ชุมพร แต่นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว พระองค์ยังรับสั่งว่าควรต้องได้ประโยชน์ คือสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ด้วย ไม่ใช่ป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว ทั้งนี้ มีชุมชนอยู่รอบๆ แก้มลิง 6 หมู่บ้านด้วยกัน รวมกว่าพันครัวเรือนที่ใช้น้ำจากแก้มลิงประกอบอาชีพเกษตรอย่างพืชสวน นาข้าว เลี้ยงสัตว์ และประมงอย่างการเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึงยังใช้น้ำจากแก้มลิงผลิตน้ำประปาให้ชาวบ้านด้วย”

“บุญเชิญ” ยังกล่าวอีกว่า ในการทำตัวแก้มลิงซึ่งเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ทำให้มีประชาชนส่วนหนึ่ง ราว 55 คนได้รับผลกระทบ คือถูกน้ำท่วมพื้นที่ทำกิน ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานเงินให้คนเหล่านี้เพื่อไปประกอบอาชีพ จนปัจจุบันคนส่วนใหญ่ประมาณ 80% ไม่ได้ใช้เงินส่วนนี้แล้ว เพราะว่าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ประสบความสำเร็จตามวิถีชีวิตที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ

เมื่อเดินลัดเลาะไปตามทางเดินริมอ่างเก็บน้ำที่มีสะพานไม้กลางอ่างที่ดูสวยงามเหมาะแก่การถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รายรอบอ่างเก็บน้ำเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าที่ยังดูสมบูรณ์ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ให้อนุรักษ์พื้นที่ที่ควรจะอนุรักษ์ซึ่งเป็นป่าพรุเดิม มีพันธุ์ไม้นานาชนิด สัตว์พื้นเมืองอย่างลิงกว่า 200 ตัว และพันธุ์นกกว่า 50 ชนิด

สำหรับปัจจุบันกรมชลประทานเป็นผู้ดูแลแก้มลิงหนองใหญ่ แต่ก็ทำงานร่วมกับชุมชน มีการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งจะเป็นผู้บริหารจัดการการใช้น้ำโดยมีชลประทานเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งชุมชนจะเป็นคนจัดการว่าเมื่อไรควรต้องปล่อยน้ำ หรือเมื่อไรควรต้องเก็บน้ำ และจะแจ้งข้อมูลไปที่ชลประทาน จากนั้นชลประทานจะนำข้อมูลจากชุมชนไปวิเคราะห์อีกครั้ง และประสานงานร่วมกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ จากปี 2540-ปัจจุบัน ก็ไม่เคยเกิดน้ำท่วมชุมพรเลย

โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จ.ชุมพร ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาอย่าง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่หลายคนเคยได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมีการสร้างจุดเรียนรู้และจัดอบรมให้ผู้สนใจในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทำปุ๋ยอินทรีย์, การเลี้ยงไส้เดือน ที่ส่งเสริมการนำวัสดุในพื้นที่มาทำปุ๋ยเพื่อช่วยลดต้นทุน

จุดเรียนรู้ในโครงการแห่งนี้ยังมีเรื่องของการเผาถ่านไร้ควันที่ให้พลังงานความร้อนสูง การแปรรูปผงถ่านไปเป็นสบู่ จุดเรียนรู้เรื่องคนอยู่กับป่า ที่ให้เรียนรู้วิธีการที่คนจะอยู่ร่วมกับป่าแบบไม่ทำร้ายป่า จุดเรียนรู้การนำสมุนไพรท้องถิ่นอย่างใบย่านาง รางจืด ฟ้าทะลายโจร พลับพลึง ฯลฯ มาทำของอุปโภคบริโภคในครัวเรือนกว่า 36 รายการ

นอกจากนี้ ยังมีจุดเรียนรู้เรื่องการทำไบโอดีเซล ที่เน้นทำเพื่อเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันในช่วงที่ราคตกต่ำ จุดเรียนรู้การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวปะทิว ข้าวพื้นถิ่นของ จ.ชุมพร ที่มีคุณสมบัติเก็บไว้ได้นาน 4-5 ปี โดยไม่เสื่อมคุณภาพ และสุดท้ายคือจุดเรียนรู้การทำจุลินทรีย์ก้อนเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำ

สำหรับการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ปี 2553 มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2,500 คน ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไปไม่ได้มีการบันทึก ซึ่งสำหรับศูนย์การเรียนรู้ จะมีวิทยากรเป็นปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ผู้เข้ารับการเรียนรู้จะต้องเสียค่าวัสดุ-อุปกรณ์บางส่วนที่จำเป็นต้องซื้อเอง ซึ่งจะมอบของที่ทำให้ผู้ศึกษาดูงานนำกลับไป

นับเป็นของขวัญจาก “พระราชา” ที่สร้างความสุขและความยั่งยืนให้ชาวชุมพร