หลักการทรงงานในหลวง ร.9 หลักชัยใช้ชีวิต “พีระศักดิ์ พอจิต”

สัมภาษณ์พิเศษ

 

หลักการทรงงาน 23 ข้อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือน “เข็มทิศ” นำทางให้พสกนิกรนำไปปรับใช้ในหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง และประสบความสำเร็จในชีวิต

เช่นเดียวกับ “พีระศักดิ์ พอจิต” รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่น้อมนำหลักทรงงาน และพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอัยการ กระทั่งเข้าสู่ฝ่ายนิติบัญญัติในวุฒิสภา

“พีระศักดิ์” ขยายความผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการน้อมนำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้อย่างไร ในช่วงชีวิตที่เป็นอัยการ 20 ปี จนกระทั่งเป็น 1 ใน 3 ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

น้อมนำพระบรมราโชวาท

“พีระศักดิ์” เริ่มต้นว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ว่าพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านมีเยอะมาก และเป็นเครื่องเตือนสติให้คนยึดถือปฏิบัติงานแต่ละหน้าที่ ส่วนที่ผมเป็นพนักงานกฎหมายและมีโอกาสได้ทำงานเป็นพนักงานอัยการ 20 ปี ที่นำมาเป็นเครื่องเตือนสติและระลึกตลอดมา คือ พระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานให้กับเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ยึดเป็นเครื่องมือในการทำงานว่า

“กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้รักษาและอำนวยความยุติธรรม การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช้เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายเอง”

เรานึกตรงนี้ไว้ตลอด เพราะประชาชนไม่มีโอกาสรู้กฎหมายเหมือนกับเรา

อย่าไปเข้าใจว่า เขารู้กฎหมาย ซึ่งกฎหมายเหมือนเป็นเครื่องมือใหญ่ เวลาเอาไปปฏิบัติก็ต้องให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เพราะการออกกฎหมายไม่สามารถไประลึกถึงรายละเอียดได้ทุกพื้นที่ ดังนั้น ผู้ใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย

ตัวอย่างที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ผมไปทำหน้าที่เป็นอัยการ เมื่อก่อนยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีอาชีพจับสัตว์น้ำ กฎหมายใหญ่คือห้ามครอบครองวัตถุระเบิด มีโทษสูงสุดจนถึงโทษขั้นต่ำ

ขั้นสูงสุดคือเพื่อทำลายล้าง ฆ่าคน หรือตึกรามบ้านช่อง แต่นี่คือมีวัตถุระเบิดเพื่อจับสัตว์น้ำ จะไปลงโทษถึงกับติดคุกตลอดชีวิตก็ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ คนเอากฎหมายไปใช้ต้องคำนึงถึงท้องที่ ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกฎหมาย แล้วประชาชนก็จะยอมรับผลกฎหมายนั้น ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจ ประชาชนก็อาจจะปฏิเสธกระบวนการ ตัดสินไปแล้วไม่ยอมรับ

ดังนั้น ความเข้าใจสำคัญที่สุด โดยจะต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ถ้าเขาผิดจริงแล้วรับสารภาพ จะมีเหตุบรรเทาโทษให้ ประชาชนจะได้เข้าใจว่า ถ้ารับสารภาพแล้วจะได้บทลงโทษประมาณขนาดไหน อย่างไร ใช้หลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มีโครงการเผยแพร่กฎหมาย เป็นโครงการของสำนักงานอัยการ ทำให้ผมออกไปหาประชาชนถึงที่ อธิบายเรื่องกฎหมาย เช่น ภูมิภาคนี้เป็นป่า เป็นเขา เราต้องเอากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่า เข้าไปบอกกับชาวบ้าน หรือถ้าเป็นที่ราบ เราก็เอากฎหมายเรื่องกรรมสิทธิ์ไปอธิบายให้สอดคล้องกับสิ่งที่ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้วิธีให้เบอร์โทรศัพท์เขา จะได้ไม่เสียเวลามาหาในตัวจังหวัด หรือถ้าได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกจากคนอื่นก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ ผมจึงให้เบอร์โทรศัพท์ทุกที่ที่ผมไปบรรยายกฎหมาย อย่างบางอำเภอที่ต้องเดินทาง 3 ชั่วโมง มาถึงตัวจังหวัด เขาก็โทร.หาผมได้ ตรงนี้เป็นการเอากฎหมายไปถึงเขา ไม่ใช่ให้ประชาชนวิ่งมาหากฎหมาย

ปฏิบัติอย่างนี้มา 10 กว่าปี ประชาชนมีเบอร์โทรศัพท์ผมแทบทุกหลังคาเรือน ทำให้การเข้าถึงชาวบ้านไม่ยาก เพราะชาวบ้านพร้อมจะยอมรับเรา ถ้าเราทำตัวยิ้มแย้มแจ่มใส ไปถึงก็นั่งล้อมวงไม่ต้องจัดการอะไรใหญ่โต ประชาชนก็ยิ่งคลายตัวเอง เมื่อประชาชนไม่เกร็ง เราก็จะได้รับฟังอะไรจากประชาชนมากขึ้น นี่คือหลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระองค์ เพราะทุกอย่างก็เพื่อประชาชน ถ้าเราไม่ถึงเขา จะทำประโยชน์ประชาชนไม่ได้เต็มที่ คือหลักใหญ่ ๆ ที่ทำงาน

“การที่เราทำงานโดยน้อมรำลึกถึงพระบรมราโชวาท ทำให้เราพบปะกับคนเยอะ มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจกับคนเยอะ มาถึงเวลาหนึ่งมีการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2549 ผมไม่ได้อยากจะสมัคร แต่ประชาชนอยากให้ผมสมัคร เพราะเขารู้จักเรา อาจคิดว่าเราเป็นที่พึ่งเรื่องกฎหมายได้ ผมเลยสมัคร ไม่ได้ใช้เงินใช้ทอง ประชาชนให้การสนับสนุน เพราะเราไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มเหงคนหรือรังแกคน แต่เราใช้กฎหมายเพื่อรักษาสังคม ทั้งผู้เสียหายและจำเลยไม่โกรธผม เพราะเมื่อเกิดเรื่องเกิดราวมา เราต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ ให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐ ซึ่งสำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่น ความศรัทธา ถ้าประชาชนศรัทธาองค์กร ศรัทธารัฐ ประชาชนก็จะยอมรับกฎหมายที่รัฐออกไปบังคับเขา” พีระศักดิ์กล่าว

หลักทรงงานในหลวงทุกบทบาท

ต่อมาเมื่อ “พีระศักดิ์” ได้ลงสมัคร ส.ว. แต่เกิดการรัฐประหาร 2549 ไปเสียก่อน เขาจึงลงเล่นการเมืองท้องถิ่น และได้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเขายังได้น้อมนำหลักการทรงงานมาปรับใช้เช่นเดียวกับครั้งที่เป็นอัยการ

“พอมาทำงานด้านการเมือง เป็น ส.ว. หรือนายก อบจ. ทำให้เรามีข้อมูลในพื้นที่ มีอะไรประชาชนก็จะให้ข้อมูลเรา ขณะเดียวกันเรามีแหล่งข่าวในพื้นที่ ทำให้การทำงานสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ทุกพื้นที่ ทำในเรื่องที่เป็นความต้องการของประชาชน เพราะตอนเป็นอัยการ เราเอากฎหมายเข้าถึงเขา มีปัญหาอะไร ประชาชนปรึกษาหารือเราได้

“เมื่อเราเข้าถึงชาวบ้านแล้ว เราก็ย่อมรู้ความต้องการของเขา เป็นฐานที่ทำให้เราทำงานในตำแหน่งในอะไรก็ได้ ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ทุกตำแหน่ง พอมาถึงการเป็นรองประธาน สนช. มีกฎหมายที่บกพร่องอะไรไหม ยังไม่ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เราก็ต้องไปรับฟังความคิดเห็น เป็นบทบาทอีกอย่างหนึ่ง”

ครั้น “พีระศักดิ์” ได้เป็นรองประธาน สนช. เขายังได้นำหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้กับ สนช.

“การเป็นรองประธาน สนช. ต้องรับผิดชอบกว้างขึ้นทั้งประเทศ นอกจากรับผิดชอบงานสภา เราต้องออกไปฟังความคิดเห็น จึงขยายจากหลักเล็ก ๆ ไปสู่หลักใหญ่ พอเราอยู่ในจังหวัดก็ทำประชาคมทุกตำบล ซึ่งผมจะออกไปด้วยตัวเอง รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกตำบล พอมาอยู่ใน สนช. ดูแลทั้งประเทศ จึงคิดโครงการโดยปรึกษากับอาจารย์พรเพชร (วิชิตชลชัย ประธาน สนช.) ควรมี สนช.พบประชาชน ออกไปหาประชาชนทุกจังหวัด ขณะนี้ออกไปพบ 67 จังหวัด เดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะครบ 77 จังหวัด”

พอเพียงทำให้เข้าถึงประชาชน

หลักอีกข้อหนึ่งที่น้อมนำมาปฏิบัติ คือ “ความพอเพียง” เพราะผมอยู่ต่างจังหวัด ต้องพอเพียง และการมีส่วนร่วม สังคมประกอบด้วยคนหลากหลาย เราจะต้องพยายามหาแนวร่วมทางสังคม เราอยากจะทำเรื่องดีขนาดไหน แต่ไม่มีแนวร่วม ไม่มีศรัทธา ทำคนเดียวก็ลำบาก ต้องทำเป็นหมู่คณะ แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ นี่เป็นสิ่งที่จดจำมาจากพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน

พอเพียงถ้าคิดตามอย่างละเอียดไม่ใช่ว่าประหยัดมัธยัสถ์ แต่ให้มันเหมาะสมกับฐานะของตัวเอง เหมาะสมกับสภาพ หรือไปในพื้นที่ที่เขายากจน ไม่ใช่ทำตัวแต่งตัวเลิศหรูลงพื้นที่ เราอาจจะใส่กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ไปคุยกับชาวบ้าน เพื่อให้เราไปทานข้าวกับเขาได้ รวมถึงการศึกษาพื้นที่ที่เราจะไปล่วงหน้า ศึกษาคน ทำการบ้านไว้ เวลาไปถึงจะได้หมัดตรงคุยกับชาวบ้านได้เลย

“ยกตัวอย่างไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เขานับถือศาสนาอิสลาม เราต้องคำนึงถึงวิถีปฏิบัติของเขา ชาวบ้านก็อยากไปหา หรือแม่ฮ่องสอนก็จะมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาเรื่องสัญชาติ ยังไม่เป็นพลเมืองไทยอย่างเต็มที่ ทั้งที่เขาเรียนหนังสือที่เมืองไทย เกิดในเมืองไทย แต่พอจบมาแล้วก็ไม่มีแรงฮึดจะเรียนต่อ เพราะการทำงานไม่สะดวก สนช.ก็ไปเร่งรัดแก้ไข ซึ่งเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยทำขั้นตอนให้สัญชาติได้ง่ายขึ้น ส่วนภาคอีสาน เขารักส่วนราชการที่ลงไปหาเขา ชาวบ้านให้เกียรติส่วนราชการมาก ยิ่งเราพา สนช.ที่พูดอีสานได้ไป ยิ่งสนุกสนานเฮฮา”

รู้รักสามัคคี-กุญแจปรองดอง

อีกหมวกหนึ่ง “พีระศักดิ์” เป็น 1 ในคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งเป็นชุดที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

ระบุถึงหลัก “รู้รักสามัคคี” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ได้นำมาปรับเรื่องในครอบครัว รวมทั้งเรื่องงาน เพราะเมื่อองค์กรไหนมีความสามัคคี ผลของงานก็จะแสดงออกมา

“ในครอบครัวจะรักสามัคคีกัน พอมาอยู่ในองค์กรไหน เราก็คิดเหมือนเราเป็นพ่อ มาอยู่ในสภา เราก็ใส่ใจคนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน เมื่อทุกองค์กรมีความรักสามัคคี ผลงานก็จะออกขึ้นมาเอง”

“ส่วนความสามัคคีของคนในประเทศ ต่อจากนี้ต้องเคารพกติกา เพราะสังคมส่วนใหญ่จะทำให้แต่ละคนคิดเหมือนกันคงยาก ต้องมีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ เหมือนกับที่เราต้องการให้คนยอมรับกฎหมาย เราก็ต้องไปชี้แจงกฎหมาย เขาก็จะได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับความปรองดอง หากเราหาสัญญาประชาคมร่วม ที่เป็นความเข้าใจร่วมกันทั้งหมด และพยายามหาคนไปอธิบายว่า ต่อไปจะไม่ให้เกิดอย่างเดิมอีก จะทำอย่างไร นี่เป็นการทำความเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และ คสช.ต้องเข้าถึง และทำความเข้าใจกับประชาชน”

“ผมเชื่อว่าเรามีความหวังเรื่องปรองดอง หลังจาก 3 ปีที่แล้ว นึกไม่ออกว่าประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะคนบ้านเดียวกันก็ดูโทรทัศน์คนละเครื่อง นึกไม่ออกว่าบ้านเมืองจะไปต่ออย่างไร แต่ถึงวันนี้เริ่มมีความหวัง เพราะความคิดความอ่านของคนมีโอกาสที่จะเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ คสช.กับรัฐบาล รวมถึง สนช. ต้องพยายามเข้าถึงประชาชนและอธิบายเหตุผล ความจำเป็น ว่าทำไมต้องมีความปรองดอง ต้องอธิบายกับชาวบ้าน เพราะขณะนี้ความรุนแรง ความเกลียดชังเริ่มเบาลง จึงอยู่ที่เครื่องมือที่จะเข้าถึงชาวบ้าน ว่าจะไปทำความเข้าใจอย่างไร”

“ซึ่งเครื่องมือนั้น คือ พระบรมราโชวาทของในหลวง กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป้าหมายสูงสุด คือ เพื่ออำนวยความยุติธรรม เรื่องปรองดองก็เช่นกัน ถ้าเราไปว่าตามกฎหมายเป๊ะ ๆ ชาวบ้านไม่รับ เราต้องเข้าถึงเขาให้ได้ เข้าใจเหตุ เข้าใจผล ใช้เวลา แล้วไปอธิบายให้เขาฟัง ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย รวมถึงรัฐบาล”