ตราไว้ในแผ่นดิน

การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนาที่ทรงคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และชั้นวรรณะ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศนับได้ 4,600 กว่าโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ถึงปัจจุบัน ทุกโครงการพระราชดำริยังคงตราไว้ในแผ่นดิน ขยายทั่วทุกหัวระแหงของประเทศไทยจวบจนถึงทุกวันนี้

การพัฒนาชนบท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภาคของประเทศไทย ทรงทราบปัญหาและได้มีพระราชดำริที่จะแก้ปัญหาของชนบทด้วยวิธีต่าง ๆ หลายประการด้วยกัน ตามลักษณะของปัญหาและสภาพทางกายภาพ ตลอดจนสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชนนั้น ๆ เป็นกิจกรรมที่กระจายครอบคลุมอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร มักจะทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และเสด็จฯเยี่ยมพื้นที่เหล่านั้นเสมอ เป้าหมายทรงมุ่งเน้นเรื่องพื้นฐานในการพึ่งตนเองของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการผลิตที่จำเป็น เช่น แหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การพัฒนาเกษตร

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิค และวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล

Advertisment

การพัฒนาการประมง

Advertisment

“…ทรัพยากรด้านประมงจะต้องจัดเป็นระเบียบ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าปล่อยพันธุ์ปลาให้ดี หรือเลี้ยงปลาให้เติบโตดี สำคัญที่ว่าตามธรรมชาติเราปล่อยปลาลงไปแล้ว มันจะผสมพันธุ์หรือไม่ผสมพันธุ์ก็แล้วแต่ แต่ว่ามันก็เติบโตตามธรรมชาติใช้การได้ ปัญหาอยู่ที่ในด้านบริหารการจับปลาไม่ใช่ในด้านการเลี้ยงปลา ในด้านเลี้ยงปลา สถานีประมงต่าง ๆ ก็ทำแล้ว แต่ที่จะต้องทำคือ บริหารเกี่ยวกับการจับปลาให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง ๆ…”

พระราชดำรัสที่เกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการพัฒนาการประมง ได้ก่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของราษฎรให้สูงขึ้น ราษฎรมีอาหารโปรตีนจากปลาบริโภคกันอย่างทั่วถึง เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารโปรตีนได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่า ประโยชน์ในระยะสั้นราษฎรได้รับความรู้และเทคนิคในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และมีอาหารสัตว์น้ำบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้ราษฎรที่ยากจนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สำหรับในอนาคตหรือประโยชน์ในระยะยาวนั้น คาดว่าเมื่อราษฎรมีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากขึ้น ก็จะสามารถผลิตสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างฐานะเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

การพัฒนาการปศุสัตว์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับการเกษตรในทุกด้าน รวมทั้งด้านปศุสัตว์ บ่อยครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลจากการคมนาคม พระองค์ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ทั้งด้านปศุสัตว์และสัตว์ปีก พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ

รวมทั้งพันธุ์สัตว์ เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาส ควรเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเกษตรกรจะได้ใช้ผลิตผลพลอยได้หรือสิ่งเหลือใช้ ทั้งจากการเพาะปลูกในการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นประโยชน์ เช่น มูลของสัตว์ก็สามารถใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตทางด้านการเพาะปลูกได้ผลดียิ่งขึ้น และสามารถทำเป็นแบบอย่างหรือแนวทางให้เกษตรกรในเขตที่มีสภาพและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน นำไปใช้เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูกของเกษตรกรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนอกจากนี้หากมีมูลสัตว์มากเพียงพอก็สามารถนำไปหมักเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานในบ้านได้ด้วย

การพัฒนาแหล่งน้ำ

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภคน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

จากพระราชดำรัสที่นำมาสู่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนสามารถให้ประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

– พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากในเขตโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูนาปี นอกจากนั้นยังมีน้ำให้เพาะปลูกในฤดูแล้งได้อีกด้วย

– ในท้องที่บางแห่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขัง จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้ หรือเพาะปลูกไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ช่วยให้พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถใช้เพาะปลูกอย่างได้ผล

– โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นทางกรมประมงได้นำพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งไปปล่อยไว้ทุกอ่างตามความเหมาะสม

– ช่วยให้ราษฎรในเขตโครงการต่าง ๆ มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี บรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่ ๆ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ จะช่วยให้ราษฎรตามชนบทที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดาร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเขตชุมชนได้มีไฟฟ้าใช้

– พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธารโดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธารเป็นชั้น ๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝาย

การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน

“…เดี๋ยวนี้ทุกคนก็คงเข้าใจแล้วว่า ป่า 3 อย่างนั้น คืออะไร แต่ก็ให้เข้าใจว่าป่า 3 อย่างนี้มีประโยชน์ 4 อย่าง…ประโยชน์ที่ 4 นี้สำคัญคือ รักษาอนุรักษ์ดิน เป็นต้นน้ำลำธาร…”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้มีการดำเนินงานในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจาก

พระราชดำรินั้น แทบทุกโครงการมักจะมีเรื่องการพัฒนาจัดสรรปรับปรุงบำรุงดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมแทรกอยู่ด้วยเสมอ เป็นผลให้เกษตรกรทั่วไปมีความรู้ความสามารถในด้านการพัฒนา ปรับปรุง บำรุงดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ จนทำให้พื้นที่ในหลาย ๆ แห่ง เกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

การดำเนินการตามพระราชดำริต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แล้ว ย่อมสามารถที่จะแก้ปัญหาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้ หากมีการนำแนวทางหรือหลักการของแนวพระราชดำริไปใช้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในจุดที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน และให้มีการปฏิบัติต่อเนื่อง

การพัฒนาชาวเขา

โครงการพระราชดำริที่ทรงพัฒนาชาวเขานั้น ปัจจุบันชาวเขาได้เริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตอันเก่าแก่ของพวกตนแล้ว มีพืชพันธุ์ใหม่ ๆ วิธีการเพาะปลูกใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีบ้านเรือนถาวร ตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง สื่อสารสมาคมกับคนพื้นราบอย่างกว้างขวาง มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นทีละน้อย ศิลปะการปักผ้า จักสาน ดนตรี ของชาวเขาก็เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของคนพื้นราบ และชาวเขาก็ค่อย ๆ กลายสภาพเป็นชุมชนคนไทย เกิดความสำนึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม และเริ่มมีส่วนร่วมต่อการใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น

​เครดิต​ภาพ​ : ​กำธร เสริม​เกษม​สิน

โครงการฝนหลวง

อีก 1 โครงการพระราชดำริที่เกิดผลสำเร็จในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร นับตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม และได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ประมาณ 40-63 จังหวัดต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสภาวะแห้งแล้งในแต่ละปี ถึงแม้ว่ามีข้อจำกัดที่อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ซึ่งมีไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของประชาชนได้ทั้งหมดในแต่ละปี แต่ก็นับได้ว่าโครงการฝนหลวงนี้ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทย และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศไว้ได้เป็นอย่างมาก (หน้าพิเศษ ๑ ปี ประทับห้วงสรวงสวรรค์ พระมิ่งขวัญ ล้นเกล้าฯ เหล่าชาวไทย)