สานต่อความดีที่พ่อทำ เด็กไทยจิตอาสา ดูแลผู้ป่วย โรคเรื้อน

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีต่อปวงชนชาวไทย ล้วนแต่ทำเพื่อให้ราษฎรชาวไทยได้อยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และใช้ชีวิตได้อย่างสุขสงบและปลอดภัย เป็นพระราชกรณียกิจที่ประจักษ์แก่สายตาชาวไทยและชาวโลก ไม่เพียงแต่ยังประโยชน์แก่ประชาชน แต่ยังเป็นตัวอย่างให้พสกนิกรของพระองค์ดำเนินรอยตามใต้เบื้องพระยุคลบาทอีกด้วย

นอกเหนือจากโครงการพระราชดำริ 4 พันกว่าโครงการที่พระองค์ทรงงานมาตลอด 70 ปีที่ครองราชย์ สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากโครงการนั้น ๆ คือ การดำเนินรอยตามเป็นสิ่งที่จะสานต่อ

พระราชปณิธานที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาตลอดได้เห็นผลจริง นั่นคือการลงมือทำและช่วยกันดูแลเพื่อนพี่น้องชาวไทยด้วยกัน

เช่นเดียวกับนักเรียนมัธยมปลาย “น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์” ประธานกลุ่มจิตอาสา The Lionheart Society จากโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่พระองค์ทำ จึงได้ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ เพื่อระลึกถึงคำสอนพระองค์ท่านด้วยการช่วยดูแลให้การอนุเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน ที่โรงพยาบาลราชประชาสมาสัย จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อน ในผู้ป่วยสูงอายุถ้าหายจากโรคเรื้อนแล้ว แต่ผลจากโรคก็ทำให้เกิดความพิการถาวร เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า มือ เท้า แขนขากุด ระบบประสาทการรับฟังและการมองเห็นถูกทำลาย ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หนำซ้ำยังถูกลูกหลานและครอบครัวทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล ไม่มีโอกาสออกไปไหน

การตั้งกลุ่มจิตอาสา The Lionheart Society ของน้องพีทขึ้นมาเพื่อชวนผู้ที่ยินดีจะลงไปเยี่ยม พูดคุย สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้งการนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นไปมอบให้ผู้ป่วย และที่สำคัญได้หาเงินทุน โดยการนำผักปลอดสารพิษ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ มามอบสมทบทุนให้แก่โรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลนำไปรักษาและพาผู้ป่วยโรคเรื้อนที่สูงอายุไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ปีละ 3-4 ครั้ง

“เราจะทำไปเรื่อย ๆ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกสังคมละเลย และรังเกียจ เพราะความเข้าใจผิดกลัวจะติดโรคเรื้อนจากผู้ป่วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคเรื้อนเป็นโรคที่ติดต่อได้ยากมาก ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันแข็งแรงปกติ แม้กระทั่งบุคคลในครอบครัวที่อาศัยกับพ่อแม่ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนโอกาสติดยังยากมาก และปัจจุบันผู้ป่วยโรคเรื้อนที่โรงพยาบาลราชประชาสมาสัยก็เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนเชื้อหมดไปแล้ว เหลือแต่ความพิการถาวรจากโรคเท่านั้น” ประธานกลุ่มจิตอาสา The Lionheart So-ciety กล่าว

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2498 ในสมัยนั้น การแพทย์ไทยยังไม่ก้าวหน้าและประชาชนยังเข้าไม่ถึงระบบการสาธารณสุขได้ดีพอ มีผู้ป่วยโรคเรื้อนมากมายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ดี จนกระทั่งจากเดิมป่วยแค่ระยะแรก ๆ กลายเป็นเข้าสู่ระยะท้าย ๆ มีผื่นผิวหนังเต็มตัว หูหนาตาเล่อ ปากจมูกแหว่ง นิ้วมือนิ้วเท้ากุด ทุพพลภาพ ซึ่งเป็นที่รังเกียจและโดนกีดกันจากสังคม และยากต่อการควบคุมแยกโรค เพื่อรักษาได้อย่างเป็นระบบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตระหนักถึงปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในไทย ทรงรับงานด้านการรักษาป้องกันโรคเรื้อนให้เป็นโครงการในพระราชดำริ ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดงานปราบโรคเรื้อน ทำให้เกิดโครงการควบคุมโรคเรื้อนแบบใหม่ที่มุ่งค้นหาและรักษาผู้ป่วยตามบ้านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และดำเนินการให้การรักษาที่บ้าน เพื่อลดผลกระทบทางครอบครัวของผู้ป่วย

นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังพระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดล ก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาการสร้างเป็นสถาบันราชประชาสมาสัยขึ้นที่โรงพยาบาลพระประแดงเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2503