ธ ทรงเป็นหลักชัยไทยนิรันดร์

บทบรรณาธิการ

13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ดวงใจไทยทุกคน แทบจะปลิดปลิว เมื่อสำนักพระราชวังมีประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

ตราบ 1 ปีแห่งการสิ้นรัชสมัย รัชกาลที่ 9 ปวงพสกนิกรชาวไทยและสากลโลก ต่างรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ภายใต้หลักการทรงงาน ที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ สามัญแต่มีความสำคัญ กลายเป็นหลักทฤษฎีในการพัฒนาทั้งระดับปัจเจก ระดับองค์กร ระดับประเทศ และในระดับสหประชาชาติ

พระอัจฉริยภาพในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถูกเรียบเรียงถ่ายทอดเป็น “ศาสตร์พระราชา” เป็นทั้งหลักชัยการใช้ชีวิต-หลักคิดในการบริหารองค์กร ทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน

หลักการทรงงานอันเป็นมงคลยิ่ง 23 ข้อ ทุกถ้อยคำถูกนำไปปฏิบัติใช้กับทุกการงาน เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลเป็นระบบ นำไปสู่การระเบิดจากข้างใน แก้ปัญหาจากจุดเล็ก แล้วทำตามขั้นตอนเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นคำนึงถึงภูมิศาสตร์-ภูมิสังคม จากนั้นทำงานแบบองค์รวม คิดเชื่อมโยง ต้องไม่ยึดติดกับ “ตำรา” และทฤษฎี ลงมือทำด้วยความประหยัด จัดการด้วยการ “ทำให้ง่าย” โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และยึดประโยชน์ส่วนรวม

หลักคิดธุรกิจเรื่อง “one stop service” นั้น ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเป็น 1 ในหลักทรงงานมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว เพิ่มเติมด้วยหลัก “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” อย่างสมดุล การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต้องอาศัยหลัก “อธรรมปราบอธรรม” และการปลูกป่าในใจคน กินความหมายลึกซึ้ง มีคุณค่ากว่าการปลูกป่าในดิน

ธ ทรงลงมือ-ลงพื้นที่ ชี้แนะทุกกระบวนการ กลั่นเป็นปรัชญา “ขาดทุนคือกำไร” สิ่งที่ได้คืนอาจไม่ใช่เงิน แต่คือ ความสุข ความเจริญ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน ภายใต้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานครั้งแรก เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

ทรงใช้หลักธรรม เรื่อง “ความเพียร” เป็นองค์ประกอบในการดำเนินโครงการ โดยใช้ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน เป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการทำงานไปสู่เป้าหมาย และมีความสำเร็จ

เหนือสิ่งอื่นใด ให้มีความ “รู้-รัก-สามัคคี” รู้ปัญหา รู้ทางออก รู้จุดแข็ง-จุดอ่อน รักกัน-มองกันในแง่ดี และทำการงานอย่างมีความสุข หลักการทรงงานทั้งหมดนี้ ไม่เพียงเป็นหลักชัย ใช้ชีวิตของคนไทย แต่คือหลักเดียวกันกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก