9 คำสอนของพ่อ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

พระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่พสกนิกรที่ได้เห็นพระองค์ท่านคิดค้นและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรมาตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย “ประชาชาติธุรกิจ” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย ด้วย 9 คำสอนที่ย้ำเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม

การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง

“…การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมถึงการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารของประเทศ จึงควรจะได้ร่วมมือกัน ดำเนินงานและประสานผลงานกันอย่างใกล้ชิดและสอดคล้อง สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดีมีประสิทธิภาพแน่นอน มาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่มให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพของบ้านเมืองของเรา เพื่อให้กิจการสื่อสารของชาติมีโอกาสได้พัฒนาอย่างเต็มที่และสามารถอำนวยประโยชน์แก่การสร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคม และเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง…”

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 100 ปีของการสื่อสารของชาติ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 14 กรกฎาคม 2526

สร้างสรรค์จากของเดิมก่อน

“…การสร้างสรรค์ความก้าวหน้านั้น ต้องเริ่มที่การศึกษาของเดิมก่อน เมื่อทราบชัดถึงส่วนดีส่วนเสียแล้ว จึงรักษาส่วนที่ดี ที่เจริญ ที่มีอยู่ ให้คงไว้ แล้วพยายามสร้างและเสริมให้มั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ด้วยหลักวิชาและความคิดพิจารณาอันประกอบด้วยเหตุผลความรอบคอบ ตามความเหมาะสม ตามกำลังความสามารถ และกำลังเศรษฐกิจของเรา…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2525 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 15 กันยายน 2526

ความเจริญที่แท้จริง

“การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศและของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้ ประเทศทั้งหลายจึงต่างพยายามส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พร้อมกันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2535

ค้นคว้าวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

“…การสื่อสารที่พึงประสงค์นั้น จะต้องมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม รวดเร็ว ทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องพยายามศึกษาค้นคว้าวิทยาการและเทคโนโลยีอันก้าวหน้าให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง และรู้จักพิจารณานำส่วนที่ดีมีประโยชน์แท้มาใช้ด้วยความริเริ่มและความเฉลียวฉลาด เพื่อให้งานที่ทำพัฒนาอย่างเต็มที่ และอำนวยประโยชน์สร้างเสริมเสถียรภาพของบ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แท้จริง…”

พระบรมราโชวาท เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 60 ปี ของกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก 27 พฤษภาคม 2527

ได้ประโยชน์คุ้มค่าสิ้นเปลืองน้อย

“…วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญทุกระดับ แต่ปัจจัยนี้จำเป็นต้องใช้ให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า กล่าวคือ ให้ได้ผลสมบูรณ์ ให้สิ้นเปลืองน้อย ให้มีความสูญเปล่าหรือความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด การใช้ปัจจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบจึงต้องอาศัยความเฉลียวฉลาดและความรอบคอบระมัดระวังอย่างสูง…”

พระราชดำรัส เพื่อเชิญลงตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18-25 สิงหาคม 2527

คิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมใช้เอง

“…ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง เราจึงควรสนับสนุนให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง ถ้าเราสามารถคิดค้นได้มากเท่าไร ก็จะเป็นการประหยัดและช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น…”

พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และครบรอบ 120 ปี หว้ากอ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 สิงหาคม 2531

ใช้เทคโนโลยีให้พอดี

“…การใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์ความเจริญต่าง ๆ ในบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องใช้ให้พอดี และสอดคล้องกับโครงสร้างของประเทศทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ผลหรือประโยชน์อันจะเกิดขึ้นนั้น บังเกิดขึ้นพร้อมทุกด้านโดยสมบูรณ์และได้สมดุลทั่วถึงกัน…”

พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนา กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน 24 มีนาคม 2532

เพิ่มคุณค่าทรัพยากร

“…การเพิ่มพูนทรัพยากรของชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีข้อควรคำนึงประการหนึ่งว่า การพัฒนาสร้างเสริมคุณค่าของสิ่งใดก็ตาม ควรมุ่งหมายให้สัมฤทธิผลเลิศ ที่สามารถสนองความประสงค์ได้สมบูรณ์ ไม่บกพร่อง การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณค่าทรัพยากร จึงต้องรวมหลักวิชาและเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าด้วยกันให้ประสานสอดคล้อง และส่งเสริมกันอย่างถูกต้องพอเหมาะพอดี…”

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญลงตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2533 18-25 สิงหาคม 2533

รู้เทคโนโลยีไม่พอ ต้องเป็นคนดี

“…เทคโนโลยีชั้นสูงนี้ คนส่วนมาก เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจ ว่ามีโทรทัศน์ มีดาวเทียม มีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ว่าเครื่องเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูรูปร่างท่าทางเหมือนมีชีวิต แต่อาจจะไม่มีชีวิต มีสีก็มีสีได้ แต่ว่าไม่มีสัน คือสีสันนั่นรวมแล้วมันครบถ้วน และยังไม่ครบ ยังไม่มีจิตใจ อาจจะทำให้คนที่มีจิตใจอ่อนเปลี่ยนเป็นคนละคนก็ได้ แต่ว่าที่จะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุด ที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน คนสอนคนนี่มีที่เขาใช้ดาวเทียม คนเดียวสอนได้เป็นพัน เป็นหมื่นในคราวเดียวกัน แต่ถ่ายทอดความดีนี้ยาก ถ้าถ่ายทอด จะว่าไปอาจจะต้องถ่ายทอดตัวต่อตัว

ฉะนั้นการที่มีความก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงในประเทศในสังคมไทย ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเปลี่ยนแปลงในทางดี นอกจากต้องหาวิธีให้มีการถ่ายทอดโดยใช้ตำรา หรือใช้หลักสูตรที่เหมาะสม ที่ทำให้คนเป็นคน อันนี้ก็ขอฝากความคิดอันนี้ไว้ เพราะว่าเป็นสิ่งสำคัญ. ถ้าสักที่จะให้มีความรู้ทางเทคโนโลยีมากไม่พอ ต้องมีความเป็นคน คนดี รวมความแล้วว่า ต้องอบรมบ่มนิสัยให้ได้ ก็ต้องหาวิธีที่จะทำ…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2539

ที่มา : รวมพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา www.amarin.co.th/royalspeech/ และหนังสือ 89 คำสอนของพ่อ จัดพิมพ์โดย บมจ.กสท โทรคมนาคม