เดินตามรอยพ่อ “จงใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง”

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี

พระองค์ไม่เพียงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หากพระองค์ยังทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาในการดูแลสารทุกข์สุกดิบของปวงอาณาประชาราษฎร์ตลอดมา

สมดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

เนื่องจากพระองค์เสด็จฯเยี่ยมเยือนราษฎรทั่วทุกสารทิศทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2495 พระองค์ทรงเห็น และตระหนักถึงสภาพความเป็นอยู่ของปวงราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในการทำมาหากิน การดำรงชีพ จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไข และบรรเทาความเดือดร้อน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,600 โครงการ

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังมีประกาศเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ด้วยพระอาการสงบ เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ได้นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ราวกับหัวใจของปวงชนแตกสลาย

ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงพูดคุยกับ 3 บุคคล ถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบรมราโชวาท หลักคิด หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมาประยุกต์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

เบื้องต้น “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า แต่ละปีในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้เวลา 8 เดือน ในการแปรพระราชฐานไปยังพื้นที่ทุรกันดารตามจังหวัดต่าง ๆเพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฎร ซึ่งผมได้ตามเสด็จพระองค์มาเป็นระยะเวลา 35 ปี รู้รสถึงความเหนื่อยยากว่าการต้องจากครอบครัวไป 8 เดือนในทุกปีนั้นเป็นอย่างไร

“เมื่อใช้วิจารณญาณถึงการดำเนินงานของพระองค์ ก็จะรู้ว่าชีวิตต้องพึ่งพิงดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่ไปมุ่งแต่เรื่องเงินทอง อันเป็นตัวการที่ทำลายดินน้ำ ป่า ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเรื่องน้ำ ชาวบ้านที่ปฏิบัติตามหลักการของพระองค์ ไม่มีรายไหนที่มีน้ำแล้ง หรือเกิดน้ำท่วม โดยจะมีน้ำใช้ได้ตลอด”

“พระองค์พยายามให้ทุกคนใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง สิ่งต่าง ๆ ต้องเกิดจากการรู้ก่อนแล้วจึงปฏิบัติ ทั้งเรื่องความสามัคคี หรือเรื่องอื่น ๆ ตามที่พระองค์ยึดหลักการทรงงาน เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา คือ เมื่อเข้าใจอย่างดีแล้วจะเข้าถึงการปฏิบัติ สุดท้ายประเทศจะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเราต้องส่งมอบปัจจัยชีวิตต่าง ๆ ไปสู่ลูกหลาน ถ้าเรากอบโกย หรือใช้อย่างไม่บันยะบันยัง ในอนาคตจะประสบปัญหาต่าง ๆ”

สำหรับช่วงเวลาครบ 1 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต “ดร.สุเมธ” กล่าวว่า ประชาชนโศกเศร้าได้ แต่ต้องมีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อเข้มแข็งแล้วจะเกิดปัญญา เพื่อนำแนวทางของพระองค์มาปฏิบัติ หรือใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย

เช่นเดียวกับ “วาสนา ลาทูรัส” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ “นารายา” (NaRaYa) ที่บอกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการทำงานแบบไม่ติดตำรา ทำงานเป็นลำดับขั้นตอน ทำอย่างประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญคือ มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน และทำงานอย่างมีความสุข ตลอดจนการส่งเสริมชุมชนในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน

โดยองค์ประกอบของความสำเร็จนารายา ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 23 หลักทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง “วาสนา” บอกว่าสิ่งที่พระองค์ทำให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง และพร่ำสอน เหมือนพ่อสอนลูกเสมอมานั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นความจริงที่สามารถใช้ได้จริง และนำมาซึ่งความสำเร็จ

“สิ่งที่เราจะทำต่อไปคือ การน้อมนำแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และนำมาสอนลูก ๆ ซึ่งตอนนี้พวกเขาเริ่มได้เข้ามาช่วยงานในบริษัท รวมถึงการนำไปสอนลูก ๆ ที่เป็นพนักงานบริษัทอีกด้วย อย่างเช่นเรื่องหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนไว้ว่า เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า (พระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541) ตรงนี้เรานำมาเป็นแนวทางในการทำงาน โดยเฉพาะกับคนเย็บในต่างจังหวัดที่มีหลายพันคน ซึ่งเราจะให้จักรแก่ชาวบ้าน แต่ไม่ได้ให้ฟรี เขาต้องผ่อนกับเราโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งจักรถือเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เขาจะต้องรู้จักความรับผิดชอบว่าหน้าที่ต้องส่งจักรอันนี้ ไม่ใช่นึกจะทำก็ทำ นึกจะไม่ทำก็ไม่ทำ”

“อีกทั้งพนักงานในโรงงาน และชาวบ้านที่เย็บผ้ากับเราส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา และเราไม่อยากให้เขาเลิกทำนาด้วย ดังนั้นในช่วงหน้านา เราจะสอนให้เขารู้จักวิธีการบริหารเวลา แบ่งเวลา แบ่งหน้าที่กัน ซึ่งจะไม่กระทบกันกับทั้งเราและเขา เรายังส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งจะเห็นว่าโรงงานของเรากระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ และไม่เพียงแต่การผลิต แต่เรายังสอนให้เขาเป็นเถ้าแก่ สอนเรื่องการจัดการ การขนส่ง แพ็กเกจจิ้ง และรับออร์เดอร์ นับตั้งแต่วันแรกที่เราเข้าไปจนถึงวันนี้ ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”

ขณะที่ “พิรดา เตชะวิจิตร์” นักบินอวกาศคนแรกของไทย ที่ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) บอกว่า หลายเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้มีความสำคัญ และเป็นเรื่องจริงอย่างมาก ซึ่งตนเองก็ยึดถือเรื่องการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมาใช้ในการทำงาน

“เพราะเชื่อว่าทุกคนเป็นฟันเฟืองที่ทำให้ประเทศหมุน และเดินไปข้างหน้าได้ เพียงแต่จะเลือกเป็นเฟืองที่เสีย หรือเฟืองที่หมุนได้ ถ้าในสังคมไทยทุกคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ประเทศชาติเดินก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นตอนนี้ตนเองอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ และเป็นภาคส่วนที่มีผลต่อเรื่องการพัฒนาประเทศทางด้านการศึกษา ซึ่งพยายามจะทำให้เด็กเรียนรู้จากการลงมือทำ ผ่านแล็บ STEM ที่เราสร้างให้ เพราะเราเห็นยังมีเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี”

“ตอนนี้เราทำให้กับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ผลที่ออกมาทำให้เด็ก ๆ ใช้แล็บมากถึงวันละเกือบ 200 คน และในปีถัดไปเราจะขยายไปอีก 10 โรงเรียนต่อไป”


อันเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ด้วยการดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์