บันทึกรัชสมัยผ่านแสตมป์ ส่งต่อความทรงจำ “รัชกาลที่ 9”

สัมภาษณ์

จะมีสักกี่หน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสตร์ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ไปรษณีย์ไทย” คือหนึ่งในนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “อานุสรา จิตต์มิตรภาพ” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งมีส่วนร่วมในช่วงเวลาที่มีการออกแสตมป์ในวาระสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากที่สุดช่วงหนึ่ง และเป็นผู้ผลักดันคอลเล็กชั่นพิเศษอันทรงคุณค่า “99 ล้านถวายไท้องค์ราชัน”

Q : มีส่วนร่วมในแสตมป์วาระพิเศษ

ถือว่าเป็นโชคดีที่ได้อยู่ในหน่วยงานที่ได้ทำเรื่องแสตมป์ ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน เป็นจังหวะที่ไทยเป็นเจ้าภาพงานแสตมป์โลก เป็นวาระฉลอง 100 ปีกิจการไปรษณีย์พอดี ตอนนั้นคณะทำงานได้กราบขอพระบรมราโชวาทจากพระองค์ท่าน ในวาระวันสื่อสารแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี 2526 เหตุเพราะพระองค์ท่านเป็นนักสื่อสาร ตั้งแต่การเลือกเครื่องมือที่ใช้และคอนเทนต์ให้เหมาะ โดยได้พระราชทานย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสาร

และยังได้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการจัดสร้างแสตมป์มาถึง 30 ปี โดยงานแรกคือ วาระเฉลิมพระชนมพรรษา5 รอบ เป็นแสตมป์ทองดวงแรกของไทยปลุกกระแสวงการสะสม จากนั้นทุกครั้งที่สร้างแสตมป์วาระพิเศษของในหลวง รัชกาลที่ 9 จะต้องคิดเทคนิคพิเศษใหม่ ๆ มาใช้ จึงไม่ใช่มีคุณค่าในแง่ของเรื่องราวที่ถ่ายทอดลงบนแสตมป์เท่านั้น แต่ยังมีมูลค่าในแง่ของการสะสมด้วย

จนกระทั่งถึงวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา จึงอยากทำแสตมป์สำคัญและนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงคิดเป็นโครงการที่ผู้ร่วมบริจาค ได้ของที่ระลึกที่มีคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจด้วย

Q : เป็นครั้งแรกของโครงการแบบนี้

ครั้งแรกที่ทำแสตมป์ชุดพิเศษ เพื่อนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะเราตระหนักดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักเพื่อราษฎร ใช้พระราชทรัพย์ทำโครงการต่าง ๆ และไปรษณีย์ไทยก็ได้อาศัยพระบารมีในการจำหน่ายแสตมป์เพื่อการสะสมและแสตมป์นำจ่ายทั่วไปกว่าพันล้านดวง สร้างรายได้ให้มาตลอด เราจึงอยากทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมสมทบทุน

Q : 99 ล้านถวายไท้องค์ราชัน

เป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ นำแสตมป์ 7 เหลี่ยม ชุดที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ “สัตตมหามงคล ภูมิพลมหาราชา” (พ.ศ. 2554)ชุด 1 ถึงชุด 3 รวม 15 ดวง ที่พิมพ์พิเศษโดยใช้ทอง และแสตมป์ชุดแรกในรัชกาลที่ 9 (ชุดสยาม 2490-92) 10 ดวง 10 ชนิด ที่นำมาพิมพ์ใหม่ โดยแต่ละชุดจะมีเฉดสีเฉพาะของตัวไม่ซ้ำกัน เป็นหนึ่งเดียวในโลกและยังทำชุดพิเศษด้วยทองคำทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วย เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีที่สุดของพสกนิกรไทยในนามของไปรษณีย์

อานุสรา จิตต์มิตรภาพ

Q : ชุดพิเศษอื่น ๆ

มีหลายชุด ตั้งแต่แสตมป์ทองฉลอง 60 พรรษา แสตมป์กาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ชุด 99 ล้านถวายไท้องค์ราชัน แสตมป์ 60 ปี ราชาภิเษกสมรส ที่ทำเป็นรูปหัวใจสื่อถึงความรัก 60 ปี 2 พระองค์ แล้วมีคอลเล็กชั่นพิเศษที่บนแสตมป์จะผนึกคริสตัลสวารอฟสกี้ 12 เม็ด ซึ่งในชุดที่ทูลเกล้าฯ ถวายได้ผนึกเป็นเพชรแท้ด้วย

แสตมป์ทั้งหมดในรัชสมัยมี 79 ชุด 353 แบบ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่พระองค์ท่านเสด็จนิวัตพระนคร จนถึงโครงการพระราชดำริ และเหตุการณ์สำคัญ เรียงร้อยเรื่องราวของพระราชาผู้ทรงธรรม ปราชญ์ของแผ่นดิน

Q : กว่าจะเป็นแสตมป์แต่ละชุด

การผลิตแสตมป์ต้องวางแผนล่วงหน้า 3 ปี ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะมีวาระพิเศษอะไรเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อวางแผนว่าจะผลิตแสตมป์เผยแพร่พระอัจฉริยภาพ บทบาทของพระองค์ในการพัฒนาประเทศ จะวางคอนเซ็ปต์อย่างไร แล้วเริ่มร่างต้นแบบที่เหมาะสม ก่อนจะนำขึ้นขอพระบรมราชานุญาตให้ผลิตเป็นครั้ง ๆ ไป และหาผู้ผลิตที่มีศักยภาพรองรับได้ เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด มีทั้งโรงพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งชุด 99 ล้านถวายไท้องค์ราชัน ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

Q : มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ

เคยเข้าเฝ้าฯครั้งหนึ่ง เป็นวันพิเศษมาก เพราะเป็นวันที่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ และได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนเพื่อรับของที่ระลึกในฐานะที่ไปรษณีย์สนับสนุนการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ เป็นความภาคภูมิใจเป็นสิริมงคลมาก

แต่ก่อนหน้านั้นก็เป็นวันทรงดนตรี สมัยที่ยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของจุฬาฯ ทำให้นิสิตได้เห็นได้รู้จักพระองค์ท่านได้รู้ว่าในหลวงทรงรักพวกเรา มีความเป็นกันเอง เห็นความสำคัญของการศึกษา สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เราจงรักภักดี และก็ยังได้เข้าเฝ้าฯ วันรับพระราชทานปริญญา

Q : พระราชดำรัสเป็นแนวทาง

ไปรษณีย์ไทยและการสื่อสารแห่งประเทศไทยนำ “รู้รักสามัคคี” เป็นแกนหลักในการทำงาน นั่นคือทั้งรู้หน้าที่ รู้งาน รู้ลูกค้า คำว่า รัก คือ ต้องรักงาน รักองค์กร รักเพื่อนร่วมงาน สามัคคีคือ ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน เข้าใจในเป้าหมายเดียวกัน ก็จะขับเคลื่อนได้ทุกสิ่ง

และพระองค์ท่านเป็นตัวอย่างของคนที่รู้อะไรต้องรู้จริง จะได้เห็นพระองค์ท่านลงพื้นที่ไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อศึกษาข้อมูล และการทำงานอย่างอดทน มีความพากเพียร ไม่ย่อท้อต่อปัญหา นี่คือสิ่งที่พระองค์ท่านสอนเราผ่านการทำงาน

Q : สืบสานพระราชปณิธาน

ทุกวันนี้เกษียณแล้ว เป็นที่ปรึกษาของ BJC (บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์) ก็มีโอกาสทำโครงการ ธ ทรงเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นนิทรรศการถาวร ณ อุทยานราชพฤกษ์ เชียงใหม่ รวมถึงโครงการบีเจซี ครูไทยของแผ่นดิน ก็ถือว่ามีบุญที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9 และมีโอกาสได้เผยแพร่เรื่องราว สร้างความทรงจำที่ดี ๆ เกี่ยวกับพระองค์ท่านให้คนรุ่นหลังได้รับรู้