ช้างเผือกคู่พระบารมี ในหลวงรัชกาลที่ 9

วันที่ 26 ตุลาคม 2560 ตรงกับวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มติชนŽ จึงได้นำเสนอบทความจากวารสารข่าวทหารบก ปีที่  26 ฉบับที่ 21 วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2560 คอลัมน์ รัชกาลที่ 9 องค์จอมทัพไทย ผู้อยู่ในใจไทยนิรันดร์ กับหัวข้อเรื่อง “ช้างคู่พระบารมี”Ž และเพิ่มเติมข้อความบางช่วงบางตอนเพื่อความครบถ้วนของเนื้อหา

ประเทศไทยเราถือกันว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เมื่อครั้งโบราณนั้น ยามใดที่บ้านเมืองมีศึก ก็ใช้ช้างเป็นพาหนะขององค์จอมทัพไทยในการรบพุ่งประจัญบานทำยุทธหัตถี ช้างเคยมีบทบาทสำคัญในการสู้รบปราบปรามอริราชศัตรู ป้องกันบ้านเมืองตลอดมา จนถึงมีส่วนในการ กรำศึกกอบกู้เอกราชของชาติไทยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นจอมทัพไทยจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 70 ปี มีการขึ้นระวางช้างเผือกทั้งสิ้น 21 ช้าง ปัจจุบันเหลือ 10 ช้าง

ช้างเผือกคู่พระบารมีเชือกแรกในรัชกาลที่ 9 เป็นช้างพลายเผือกโท เดิมมีนามว่า ”พลายแก้ว”Ž คล้องได้เมื่อปี 2499 ที่ ต.ดินอุดม อ.ลำทับ จ.กระบี่ และได้ขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2502 พระราชทานนามว่า “พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ สยามราษฎรสวัสดิ ประสิทธิ์รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตร สารศักดิเลิศฟ้าŽ” ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปยืนโรงที่เขาดินวนาเป็นการชั่วคราว จนโรงช้างต้นในบริเวณสวนจิตรลดาเสร็จ จึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ ต่อจากนั้นทรงประกอบพิธีสมโภชโรงช้างต้น วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทรงโปรดเกล้าฯให้เชิญ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ”Ž มายืนโรง ณ โรงช้างต้นวังไกลกังวล ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯŽ ได้ล้มลงแล้ว เมื่อ 3 เมษายน พ.ศ.2553

สำหรับช้างเผือกอีก 9 ช้าง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วย พระเศวตวรรัตนกรีฯ หรือ “พระเศวตวรรัตนกรี นพีสีสิริพิงคนัทย์ เอกาทัศมงคลสุลักษณ์ ศุภนัขเนตราทิโควรรณ พิษณุพันธ์อัครคชาธาร อัฏฐ์กุลสารดามพหัสดิน ปรมินทรมหาราชพาหน สยามประชาชนสวัสดิคุณ เดชอดุลยเลิศฟ้าฯŽ” เป็นช้างพลายเผือกลูกบ้าน เกิดจากแม่ช้างบ้านของนายแก้ว ปัญญาคง ที่ ต.อ่อนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ต่อมา พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2509 และได้ล้มลงที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2510

พระเศวตสุรคชาธารฯ หรือ “พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ ศุภลักษณเนตราธิคุณ ทศกุลวิศิษฏพรหมพงศ์ อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนะสวัสดีวิบุลย ศักดิ์ อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้าฯŽ” เป็นช้างพลายเผือกลูกเถื่อน จาก ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2511 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2511 พระเศวตสุรคชาธารฯ เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่เสมอ พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ.2520

พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ หรือ “พระศรีเศวตศุภลักษณ์ อรรครัตนกริณี ดามพหัสดีพิษณุพงศ์ ดำรงสุทธสกนธ์สุคนธชาติ เฉลิมราชกฤดาบารมี ศรีตรังคพิเศษสุทธิ์ อุตดมสารเลิศฟ้า”Ž เป็นช้างป่า เกิดในป่าพนมสารคามรอยต่อของห้าจังหวัดในภาคตะวันออก ในเขต จ.ฉะเชิงเทรา พรานป่ายิงแม่ช้างแล้วจับลูกช้างมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุสี่เดือน โดยขาหน้าซ้ายได้รับบาดเจ็บเน่าเปื่อย ต่อมานายอนุสร ทรัพย์มนู ได้ออกเงินซื้อจากพราน และมอบให้อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตั้งชื่อว่า “เจ้าแต๋น”Ž และนำไปอนุบาลที่ที่ทำการวนอุทยานเขาช่อง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จ.ตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและอธิบดีกรมป่าไม้ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2519

พระเศวตศุทธวิลาศฯ หรือ “พระเศวตสุทธวิลาศ อัฏฐคชชาตพิษณุพงศ์ ดำรงประภาพมหิมัน ตามรพรรณไพศิษฏ์ ผริตวรุตตมมงคล ดาสศุภผลสวัสดิวิบุล อดุลยลักษณ์เลิศฟ้าฯŽ” เกิดประมาณ พ.ศ.2517 เป็นช้างพลายสีดอ พบโดยคนงานกรมป่าไม้ในป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี ให้ชื่อว่า ”พลายบุญรอด”Ž และนำไปเลี้ยงที่วนอุทยานเขาเขียว จ.ชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ และสมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2520 พระเศวตสุทธวิลาศฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

พระวิมลรัตนกิริณีฯ หรือ “พระวิมลรัตนกิริณี กมุทศรีพรรณโศภิต อัฏฐทิศพงศ์กมลาสน์ อรรคราชทิพยพาหน ถกลกิตติคุณกำจร อมรสารเลิศฟ้าฯ”Ž เป็นช้างพังเผือกลูกเถื่อน จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนายปรีชา และนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อกมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2520 ต่อมา พระวิมลรัตนกิริณีฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ตั้งแต่ พ.ศ.2538

พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ หรือ “พระศรีนรารัฐราชกิริณี จิตรวดีโรจนสุวงศ์ พรหมพงศ์อัฏฐทิศพิศาล พิเสฐธารธรณิพิทักษ์ คุณารักษกิตติกำจร อมรสารเลิศฟ้าฯŽ” เป็นช้างพังเผือกลูกเถื่อน พลัดจากแม่ช้างป่าบริเวณป่าเทือกเขากือซา ต.จะแนะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายมายิ มามุ ราษฎรบ้านกูมุง ต.จะแนะ ผู้พบได้ตั้งชื่อให้เป็นภาษาพื้นเมืองว่า จิŽ ต่อมาได้ชื่อว่า “พังจิตรา”Ž นายวัชร สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2520 เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่ออัญชัน สมโภชขึ้นระวาง ณ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2520 ปัจจุบัน พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ ยืนโรงอยู่ ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ หรือ “พระเศวตภาสุรคเชนทร์ นวเมนทราพาหน สุทธวิมลวิษณุพงศ์ คุณธำรงดามพหัสดินทร์ สุพัชรินทร์อนันตพล คชมงคลเลิศฟ้าฯ”Ž เป็นช้างพลายเผือกลูกเถื่อนเกิดจากแม่ช้างป่าในเขต ต.สองพี่น้อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบโดยชาวกะเหรี่ยง บ้านหนองปืนแตก ต.สองพี่น้อง และนำมามอบให้นายสุรเดช มหารมย์ เจ้าของไร่ภาศรี และให้ชื่อว่า ”พลายภาศรี”Ž นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ ปัจจุบันพระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ ยืนโรง ณ โรงช้างต้น ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

พระเทพวัชรกิริณีฯ หรือ ”พระเทพวัชรกิริณี ดามพหัสดีพิษณุพงศ์ โสตถิธำรงวิสุทธิลักษณ์ อำนรรฆคุณสบสกนธ์ วิมลสารโสภิต พิบูลกิตติ์เลิศฟ้าฯŽ” เป็นช้างพังเผือกลูกเถื่อนชื่อ ”ขวัญตา”Ž เกิดจากแม่ช้างป่าในป่ายางชุม ต.สองพี่น้อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี นายสนิท ศิริวานิช กำนัน ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำมามอบให้พระครูโสภณพัฒนกิจ (พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล) เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ตั้งชื่อว่า ”พังขวัญตา”Ž และเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับพลายดาวรุ่ง (พระบรมนขทัศฯ) นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์ โดยพระเทพวัชรกิริณีฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ตั้งแต่ พ.ศ.2538

พระบรมนขทัศฯ หรือ ”พระบรมนขทัศ วัชรพาหนพิษณุพงศ์ โสตถิธำรงอัฏฐคช ดิเรกยศอนันตคุณ อดุลยสารเลิศฟ้าฯŽ” เป็นช้างพลายเผือกเล็บครบลูกเถื่อน เกิดจากแม่ช้างป่า พระครูโสภณพัฒนกิจ (พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล) เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มาจากราษฎร อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งชื่อว่า “พลายดาวรุ่ง”Ž และนำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับพังขวัญตา (พระเทพวัชรกิริณีฯ) นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเป็นผู้ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2521 เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ”ครบกระจอกŽ” เป็นช้างที่มีเล็บครบ 20 เล็บ คือ เท้าละ 5 เล็บ ทั้ง 4 เท้า ปัจจุบัน พระบรมนขทัศฯ ได้ล้มลงแล้ว

ทั้งนี้ นอกจากช้างจะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองแล้ว ยังมีคำกล่าวที่ว่า บ้านใดเมืองใดมีช้างเผือก จะบ่งบอกได้ถึงสัญลักษณ์แห่งความสงบสุข ร่มเย็น ความอุดมสมบูรณ์ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น แผ่นดินธรรม แผ่นดินทองŽ

หมายความว่า “คนในชาติ ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ภายใต้หลักธรรม แห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติสืบไปŽ”

 

ที่มา  มติชนออนไลน์