ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน “รู้ลึกรู้จริง ทดลองให้มาก”

สัมภาษณ์

ถือเป็นโอกาสพิเศษยิ่งเมื่อ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ถาวร เยาวขันธ์” ผู้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มากว่า 50 ปี ทั้งในฐานะมือกลอง วง อ.ส. ตั้งแต่ปี 2501 ทั้งรับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข ก่อนเกษียณในตำแหน่ง รองผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย รวมถึงเคยเป็นนายกสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Q : ความประทับใจ

พระองค์ท่านรักษาจิตใจของพวกเราทั้งหมด ง่าย ๆ เข้าไปเล่นในวงเป็นสิบปี กว่าที่จะคอมเมนต์ว่า ตรงนี้เล่นไม่ค่อยดีนะ เพราะกลัวพวกเราเสียใจ ทุกครั้งเวลามี state visit พระองค์ท่านแนะนำสมาชิกทุกคนกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่มา โดยย้ำว่า ขอแนะนำเพื่อนให้รู้จัก ซาบซึ้งมาก และที่มากกว่าคำพูดคือ สายตาที่พระองค์ท่านมองมาที่พวกเรา มีความจริงใจในนั่น นี่คือความสูญเสียที่เราสูญเสียพระองค์ท่านไป แต่ก็ต้องก้าวต่อไป ช่วยกันพัฒนาประเทศ

Q : เมื่อนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9

พูดเป็น 10 วันก็ยังไม่จบ แต่สิ่งที่จำได้แม่นคือ พระองค์เป็นคนที่สนใจจะทำอะไรแล้ว จะศึกษาให้ลึกถึงระดับแกนโลกทีเดียว และทำจริง ๆ ทำให้ได้ผลประโยชน์ตอบกลับจริง ๆ นั่นทำให้เห็นว่า เวลาจะพัฒนาอะไร ต้องศึกษาให้ลงลึกจริง ๆ ไม่ใช่แค่ผิวของความรู้ที่เราไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง

มีครั้งหนึ่งผมเคยพูดถึงเรื่องญาติผู้ใหญ่ที่ไปช่วยทำเรื่องสวน และมีปัญหาว่าบางเดือนน้ำป่าลงมาแรงมาก ก็พยายามจะกั้นน้ำแต่ก็พังตลอด ตอนนั้นพระองค์ท่านไม่ได้รับสั่งอะไรเลย แต่อาทิตย์ถัดไป ทรงหอบ Text book หนาเป็นตั้ง ส่งให้บอก ถาวรเอาไปอ่าน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกั้นน้ำอย่างไร แล้วย้ำว่า น้ำ ธรรมชาติไหลลงมาเคยไปทางไหนเขาก็จะไปทางนั้น ถ้าไปกั้นไว้มันก็จะเสียหาย ฉะนั้นจะขุดอะไรก็ต้องไปทำตามทางที่เขาเคยไป หากอยากจะชะลอก็เอาหินวางเป็นฝายไว้ แล้วเราก็จะสำเร็จ สิ่งที่ร้ายแรงก็จะเบาบางลงไป

ฉะนั้นถ้าทุกคนมุ่งปฏิบัติตามอย่างพระองค์ท่านคือ รู้อะไรให้รู้จริง ศึกษาจริงจัง นี่คือสิ่งที่เด็กรุ่นหลังจะต้องศึกษาและพัฒนาตัวเองให้ได้

Q : พระราชทานทางแก้ปัญหา

หลายอย่างเป็นเรื่องส่วนพระองค์มาก ก็จะเล่าเฉพาะเรื่องที่พอจะทราบกันบ้างแล้ว อย่างวิทยุติดตามตัวในระยะแรก ที่ยังเป็นเครื่องวิทยุตัวเล็ก ๆ ที่กรมไปรษณีย์โทรเลขให้บริการ พบว่าปัญหาใหญ่คือความถี่ VHF ที่ใช้กวนกันมาก พระองค์ทรงทราบ จึงได้เรียกทีมทั้งหมดไปเข้าเฝ้า รับสั่งถึงทางเทคนิคอย่างละเอียด และทรงพระราชทานคริสตัลที่ใช้ผลิตความถี่ ให้กรมนำมาใช้งาน ทรงตรัสว่า ฉันมอนิเตอร์ความถี่นี่อยู่นานแล้วไม่มีใครรบกวนให้เอาไปใช้ ซึ่งคริสตัลที่พระราชทานมาให้ถูกนำมาใช้ตลอด เพราะเป็นความถี่ที่นิ่งมาก นี่ยิ่งย้ำว่า ทรงทดลองอย่างยิ่งก่อนที่จะทำอะไร อย่างเรื่องนี้ทรงทดลองอยู่เป็นอาทิตย์ก่อนที่จะเรียกไปเข้าเฝ้าฯ

Q : บริการคอมเมอร์เชียลอื่น ๆ

มีเยอะมากมาย โดยเฉพาะเรื่องสายอากาศที่ทรงให้ความสำคัญ อย่างการทดลองติดต่อเครื่องรับ-สิ่งวิทยุ ระหว่างอำเภอลี้กับเชียงใหม่ ด้วยเครื่องรับ-ส่งที่มีกำลังส่งไม่ถึง 1 วัตต์ โดยพระองค์ทรงประทับนั่งคุกเข่ากับพื้น กางแผนที่ขนาดใหญ่ ชี้ให้ดูอธิบายว่า จุดที่ตั้งของพระตำหนักภูพิงค์ฯ ได้ทรงลากเส้นไปที่ลี้ เป็น line of sight ไม่มีภูเขาบังเลยจึงรับ-ส่งสัญญาณได้ดีอย่างแค่ตัวสายอากาศ มีการทดลองหลายด้านมาก ทั้งเรื่องวัสดุ ความยาวความสั้น สูตรคำนวณที่จะใช้ การดีไซน์เสาอากาศให้ beam ส่งออกไปในรูปแบบไหน ซึ่งส่งผลต่อการใช้งาน พระองค์ท่านศึกษาเรื่องนี้เยอะมาก แต่คนรุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยใส่ใจแล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐาน

Q : งานวิทยุสมัครเล่น

พระองค์สนพระทัยวิทยุสมัครเล่นมาตลอด ในห้องบรรทมมีเครื่องรับ-ส่งวิทยุเยอะ พกติดตัวอยู่ตลอด ตอนนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูมากของกิจการวิทยุสมัครเล่น การสื่อสารในเครือข่ายเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการทั้งนั้น หลายครั้งพระองค์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับวิทยุสมัครเล่น เพราะทรงมอนิเตอร์ตลอด บางครั้งการเรียกขานไปไม่ถึงปลายทาง ทรงช่วยด้วยการ relay-messenger หรือตั้ง repeater ให้ในกรณีเป็นสาธารณภัยฉุกเฉิน แต่ยุคเฟื่องฟูหายไปเพราะบางช่วงไม่ได้ส่งเสริมด้านความรู้กันมากเหมือนก่อน บางอย่างถูกละเลยอย่างภาคส่งสัญญาณ ถ้าติดตั้งไม่ดีก็จะเกิดการ reflect ซึ่งไม่ดีเลย

Q : ถ้าจะกลับสู่มาตรฐาน

ภาครัฐจะต้องมองภาพรวมให้ชัด ว่าอะไรคือข้อดี-ปัญหา สถานการณ์ของวิทยุสมัครเล่นในปัจจุบัน มีผู้เล่นเท่าไรใช้อุปกรณ์อะไร แล้วจะเชื่อมต่อกับภาครัฐได้อย่างไร ทั้งหมดต้องยกมาวางบนโต๊ะให้ครบ แล้วดูว่าทั่วโลกทำอย่างไรกัน ต้องวางแผนล่วงหน้าเป็น 10 ปี

อีกสิ่งที่ทรงเน้นมาตลอดคือการใช้คลื่นความถี่ต้องใช้อย่างไม่รบกวนคนอื่น พระองค์ท่านคิดค้นและทดลองเรื่องนี้เยอะมาก ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีก็ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องกระตุกให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ

เทคโนโลยีที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีพื้นฐานมาก ๆ สำหรับยุคนี้ แต่ถ้าเราละเลยอะไรบางอย่างก็ส่งผลมหาศาล อย่างเรื่องการใช้คลื่นไม่ให้รบกวนผู้อื่น หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมตอนนี้ไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่มีมลภาวะทางทะเลเยอะที่สุด เราไม่ได้ทำให้การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีเดินตามไปพร้อมกับความเจริญของคนและสิ่งแวดล้อม ขณะที่พระองค์ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ อย่างเพลงรัก เพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ยังพูดถึงเรื่องนี้ ทันสมัยมาก

Q : สืบสานพระราชปณิธานอย่างไร

เราต้องทำใจว่าไม่มีสิ่งดีใดที่อยู่ค้ำฟ้า แต่ต้องคิดว่า พระองค์ท่านทำอะไรไว้ อะไรที่เราควรจะตามรอยในสิ่งที่ทรงศึกษาทรงทำ แล้วปรับปรุงให้เข้ากับกาลเวลากับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็น 4.0 5.0 ประเทศเราถึงจะอยู่บนรากฐานของความปลอดภัยได้


พระองค์ท่านมีโครงการพระราชดำริเยอะมาก ทุกคนสืบสานได้ ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ ในโลก อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ สามารถแพร่กระจายเรื่องราวนี้ และดึงให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาพูดถึงอนาคตของประเทศ อะไรที่ควรจะแก้ไขปัญหา เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เราต้องคิดต้องนำเขาให้ได้ ทุกคนช่วยกันประสานเสียง และร่วมกันผลักดันได้