พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารที่ฐานพุทธบัลลังก์“วัดราชบพิธฯ-วัดบวรฯ”

สในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2560 จะมีการเชิญพระบรมราชสรีรางคาง จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ปางสมาธิทรงผ้ามีกลีบ วัสดุกะไหล่ทองเนื้อแปด หน้าตักกว้าง 2 ศอกคืบ หรอ 60 นิ้ว น้ำหนัก 108 บาท พระฉวีวรรณเป็นทองคำทั้งองค์ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 อีกพระองค์หนึ่งด้วย

มีประวัติบันทีกการสร้างไว้ว่าพระบามสมเด็จพระจุลจอลเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2457) แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พ.ศ.2411 มีพระราชดำริสร้างวัดใกล้พระบรมมหาราชวัง สถาปนาเป็นพระอารามหลวงประจำ รัชกาล สิ่งก่อสร้าง พระอุโบสถ พระวิหาร พระจดีย์ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์งดงามมาก มีมหาสีมารอบกำแพงวัด โปรด ให้สร้างพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

พระพุทธอังคีรส เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าพระนามหนึ่ง แปลว่า มีพระรัศมีออกจากพระกาย องค์พระกะไหล่ทองคำทั้งองค์ หรัก 108บาท เป็นทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้แต่งพระองค์เมื่อ ทรงพระเยาว์ ประดิษฐานบนแท่นชุกชีหิน อ่อนที่สั่งมาจากอิตาลี

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นงานใหญ่ทรงถือว่าเป็นวัด ประจำรัชกาลของพระราชบิดา เมื่อเสด็จสวรรคตณ ประเทศอังกฤษ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิกลับเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2492 บรรจุ ไว้ที่ฐานพระอังคีรส และในปี พ.ศ. 2528 ก็ได้บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีไว้เช่นกัน

สำหรับพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) บรรจุใต้ฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม

พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดาและพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ.2372

พระพุทธชินสีห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก ๒ องค์คือพระพุทธชินราชและพระศรีศาสดา

ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราช

ทั้งนี้ราชประเพณีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่วัดประจำรัชกาลนี้ เพิ่งเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อคราวพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ส่วนพระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-4 นั้น เป็นไปตามราชประเพณีดั้งเดิมสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้ทำการเชิญไปปล่อยยังท่าน้ำวัดปทุมคงคาหรือวัดยานนาวา

จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระบรมราชสรีรางคาร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารใต้พุทธบัลลังก์พระประธานในพระอุโบสถของพระอารามประจำรัชกาลแทน

นับแต่นั้นมาพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่วัดประจำรัชกาลก็เป็นพระราชประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน


สรุป

พระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 บรรจุที่วัดประจำรัชกาล ดังนี้

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) บรรจุใต้ฐานพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ส่วนหนึ่งบรรจุใต้ฐานชุกชีพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร และอีกส่วนหนึ่งบรรจุที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 บรรจุเคียงกันใต้ฐานพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) บรรจุใต้ฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) บรรจุใต้ฐานพระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และใต้ฐานชุกชีพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

ขณะที่สุสานหลวงในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนั้น เป็นสถานที่บรรจุพระราชสรีรางคารและพระสรีรางคารของพระบรมวงศานุวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ทุกราชสกุล ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงขึ้น เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใครห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดาได้อยู่รวมกันหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว

ปัจจุบันในสุสานหลวงมีอนุสาวรีย์จำนวน 34 องค์

สำหรับอนุสรณ์ประจำราชสกุลมหิดลคือเจดีย์ “รังษีวัฒนา” ซึ่งเป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคาร และพระสรีรางคาร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ย่า) สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พ่อ) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี (สมเด็จย่า) และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นพระราชโอรส ราชธิดาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) รวมทั้งพระราชสรีรางคารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย (ลุง) ก็บรรจุในเจดีย์นี้ด้วย

เจดีย์รังษีวัฒนาเป็นอนุสาวรีย์ที่สำคัญ 1 ใน 4 เจดีย์สีทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและพระราชทานแด่พระอัครมเหสี 4 พระองค์ เรียงตามลำดับจากทิศเหนือไปใต้ ดังนี้ องค์แรกพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) พระราชทานนามว่า “สุนันทานุสาวรีย์” องค์ถัดมาเป็นของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระราชทานนามว่า “รังษีวัฒนา” องค์ที่ 3 ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง) พระราชทานนามว่า “เสาวภาประดิษฐาน” และองค์ที่ 4 ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี) พระราชทานนามว่า “สุขุมาลนฤมิตร์”

—-

ที่มา

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สำนักงานวัดบวรนิเวศวิหาร , วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
หนังสือ “งานพระเมรุ : ศิลปะสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง” เขียนโดย ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ สำนักพิมพ์มติชน
ป้ายข้อมูลในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
คู่มือสื่อมวลชนงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ