รัฐประศาสโนบายรัชกาลที่ 9 นักกฎหมาย-นักปกครองต้อง “ดีแท้”

70 ปี แห่งรัชสมัยการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชบายแก่พสกนิกรชาวไทย เปรียบดั่งมรดกอันล้ำค่า

“ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดเส้นทางนักการเมือง 15 ปี ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

ปัจจุบันยังเดินตามรอยพระยุคลบาท…ตราบนิจนิรันดร์เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงวันขอบคุณนักศึกษาที่ช่วยกันจัดงานกาชาด ผมและเพื่อน ๆ เป็นตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ขึ้นไปแสดงบนเวที แต่ธรรมศาสตร์ไม่ได้เตรียมตัว พรรคพวกจึงให้ผมขึ้นไปออกตัวบนเวทีซึ่งผมได้กล่าวถึงความสำคัญของการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ตอนหนึ่งว่า

“การแสดงต่อหน้าพระที่นั่งต้องมีการเตรียมตัวมานานเพราะเป็นเรื่องใหญ่ การไม่ได้เตรียมตัวจึงเป็นปัญหา เช่น การร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างหลายปี พอพูดคำนี้จบ พรรคพวกก็ส่งเสียงวี้ด เพราะขณะนั้นเป็นยุคของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายปีแต่ยังไปไม่ถึงไหน”

พระองค์รับสั่งตอบเรื่อง นี้ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาออกตัวว่า ไม่ได้เตรียมตัวมา จึงเกรงว่าจะเล่นได้ไม่ดีแต่ความจริงเขาก็เล่นได้ดี ที่บอกว่า งานสำคัญต้องใช้เวลา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญนั้น บางทีของนานก็ไม่ใช่ของดีเสมอไป”

เป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ประจักษ์ต่อสายตานายชวนครั้งแรกซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะในหมู่ เพื่อนนักศึกษาไม่กี่คนเท่านั้น

ประชาชนมีสิทธิ-มีเสียง

นายชวนเล่าประสบการณ์ตลอดชีวิตเส้นทางการเมืองได้สัมผัสพระราชปณิธาน ประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภาเป็นประจำทุกปีว่า ให้คิดถึงสิ่งที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์และทรงแนะนำเรื่องความ สุขุม รอบคอบ บริสุทธิ์ใจทุกครั้ง ช่วงหลังเปลี่ยนไปบ้าง เช่น การยึดหลักนิติธรรมและคุณธรรม

“ครั้งหนึ่งประธานสภาในขณะนั้นรีบร้อนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอ้างถึงพระราชดำรัสว่า ทำอะไรอย่าให้ชักช้า ผมจึงยกมือพูดทันทีว่า ท่านประธานครับ ไม่ใช่เพียงรับสั่งว่า อย่าชักช้าแต่ให้ สุขุม รอบคอบด้วย ประธานสภาตกใจมาก รีบตัดบทไม่ให้พูดและปิดสภาทันที”

พระราชดำรัสบางปี ภายหลังการยึดอำนาจซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติ พระองค์รับสั่งว่า หวังว่าสภานิติบัญญัติจะทำหน้าที่เพื่อให้มีกฎหมายหลักของบ้านเมืองโดยให้ “ประชาชนของข้าพเจ้า” มีสิทธิ มีส่วน มีเสียงต่อไปในวันข้างหน้า

ปชช.อยู่ดีกินดี ประเทศมั่นคง

พระราชดำรัสทุกครั้งทรงกล่าวถึงเรื่องความเป็นอยู่ประชาชน ถ้าทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นได้ ความมั่นคงประเทศจะเกิดขึ้น “ความมั่นคงของประเทศอยู่ที่ความเป็นอยู่ของประชาชน”

พระองค์ทรงมี พระราชปณิธานให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแต่ในความเป็นประชาธิปไตยนั้น ทรงมีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายได้สำนึกและตระหนักว่าการพูดสิ่งใดในสภา สิ่งที่พูดนั้นเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ

“อภิปรัชญา” ที่อยู่เหนือศาสตร์สามัญทั้งปวง อาทิ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี 2517 ในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พอเพียง : บ้านเมืองอยู่รอด

พระองค์ ทรงแนะนำประชาชนดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาแนวทางคำแนะนำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้จักพออยู่ พอกินแล้ว ให้ขยายพื้นที่เพื่อเป็นรายได้เพิ่ม ยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นดั่งพระราชดำริโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในหลวงทรงแนะนำว่า “บ้านเมืองจะอยู่รอดต้องประหยัด ใช้จ่ายต้องมีเหตุมีผล”

ความฟุ่มเฟือย เป็นที่มาของปัญหาครอบครัวและประเทศชาติ

“ผมมีโอกาสตามเสด็จฯ ไปเชียงใหม่ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทรงเยี่ยมสหกรณ์ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาทุจริต ทรงเตือนสติว่า เงินทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน ต้องบริหารให้ดี”

พระอัจฉริยภาพหลาย เรื่องกลายเป็น “อมตะ” เพราะคลี่คลายปัญหาได้ยาวนาน อาทิ โครงการหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร พระองค์ทรงอ่านแผนที่แล้วสามารถรู้ทันทีว่า แม่น้ำสายนี้ไหลไปบรรจบกันอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม

วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงชี้แผนที่ให้เห็นว่า หากสร้างสะพานข้ามไปถนนศรีอยุธยา จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ ปัจจุบันจึงได้สร้างถนนเป็นสะพานข้าม ผมจำได้แม่นยำเพราะรับสั่งถึงซอยหมอเหล็ง-บ้านพักของผมด้วย

ขาดทุน คือ กำไรตลอดการขึ้นครองราชย์ 70 ปี พระราชทานคำแนะนำต่อรัฐบาลหลายชุด

แตกต่างไปตามยุคสมัย ตามปัญหาบ้านเมืองในเวลานั้น ทรงเป็นนักปฏิบัติ นักปราชญ์ ผู้รู้จริง พระราชดำรัสแนะนำจึงมาจากประสบการณ์จริง

โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ทรงแนะนำให้ทำ ถึงแม้ต้องใช้เงินจ่ายค่าเวนคืนที่ดินมากกว่าค่าก่อสร้าง คนไม่สนับสนุน ในหลวงทรงใช้คำว่า Our loss is our gain แปลว่า “ขาดทุน คือ กำไร” ในวันเปิดโครงการนายชวนบอกว่า “ได้เห็นในหลวงมีความสุขมากเพียงใด”

เพียงปีแรกของการเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถลดบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยเกินกว่าที่ลงทุนไปทันที

ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตัดสินใจซื้อเครื่องบิน Alpha jet ของเยอรมัน จำนวน 2 ฝูง ในราคาถูก ขณะนั้นภายในกองทัพอากาศเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายตัดสินใจ “ซื้อ” โดยศึกษาแล้วว่า เป็นของถูก-ของดี สามารถใช้ได้ต่ออีกหลาย 10 ปี ปัจจุบันยังใช้อยู่

“วันหนึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศในขณะนั้นเข้าเฝ้าฯ เรื่องอะไรไม่ทราบ ภายหลังมาบอกผมว่า พระองค์รับสั่งเรื่องการซื้อเครื่องบิน Alpha jet ว่า ตัดสินใจถูกต้องแล้ว ทรงย้ำเรื่องความประหยัด ความพอเพียงแต่ไม่ใช่ความตระหนี่”

ทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

พระ อัจฉริยภาพด้านนิติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีดวงตาเห็น “แสงสว่าง” ในยามบ้านเมืองมืดมิดเสมอมา เพราะ “พระบารมี” เป็นพระอัจฉริยภาพอันเกิดจากพระบารมี ในหลวงทรงทำงานหนัก ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพูดกับคู่กรณีแต่ละครั้งได้

“พระองค์ ท่านต้องลงไปเชิญคู่กรณีมาเจรจา ไม่ใช่ไม่เสี่ยง ถ้าทำแล้วคู่เจรจาไม่ยอมรับ พระองค์ท่านเสียหาย ในหลวงทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์ ตามครรลองของกฎหมาย ทรงกล้าหาญเสด็จออกรับเพื่อแก้ปัญหา บ้านเมืองผ่านวิกฤตหลายครั้งมาได้ ไม่เกิดความสูญเสีย”

“ข้อสรุปที่ดีที่สุด เป็นมรดกสำหรับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ พระราชดำรัสในปี 2552 และ 2553 ทรงรับสั่งให้ศึกษาอย่างถ่องแท้เรื่องการทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทรงใช้ถ้อยคำเหมือนกัน 2 ปีติดต่อกัน”

ปัญหา ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เป็นปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “สะเทือนใจที่สุด” พระองค์รับสั่งย้ำเรื่องหลักนิติธรรมเพราะทอดพระเนตรเห็นการไม่เคารพกฎหมาย เป็นที่มาของพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“พระองค์ทรงเหนื่อย พระวรกายตลอด 40 ปี ทุกเดือนสิงหาคม กันยายนทรงเสด็จภาคใต้ อยู่กับชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาทำกิน ทรงใช้รัฐประศาสโนบายแก้ปัญหาอย่างดีมาโดยตลอด จนปัญหาภาคใต้สงบ ผมรู้สึกเสียใจเพราะความผิดพลาดในการแก้ปัญหาในช่วงหลังทำให้พระองค์ทรง สะเทือนใจมาก”

รู้รักสามัคคี

เรื่องของความสามัคคี ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสเกือบทุกครั้ง คำว่า “รู้รักสามัคคี” รับสั่งว่า “ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่รอด”

ในฐานะประมุขของประเทศทรงเห็นความแตกต่างในบ้านเมือง สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ด้วย “ความรัก ความสามัคคี”

“ใน หลวงเสด็จฯ ยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมประชาชนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความเป็นอันหนึ่งอัน เดียวกัน พระองค์ทรงอยู่กับประชาชน แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ”

“พระองค์ รับสั่งว่า The king can do no wrong แต่ทรง Does no wrong พระองค์ท่านไม่ทำผิด ไม่ใช่เพราะคำว่า King can do no wrong ทำให้พระองค์ไม่ทำผิด ไม่ใช่ King ทำผิดได้ แต่ที่พระองค์ไม่ทำผิดเพราะพระองค์ไม่ทำผิด”

พระราชดำรัสอันเป็น “อมตะ” กับนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ พระองค์ตรัสตอบคำถามล้ำลึกไปอีกว่า “ทรงต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย”

“ผลจากการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพราะความผูกพันลึกซึ้งระหว่างในหลวงกับประชาชน เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ในที่สุดเราไม่ได้ล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนอย่างที่ฝรั่งคิด”

คำตอบในเวลานั้นแสดงให้เห็นผ่านความรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยในเวลานี้

ในวันที่ฟ้ามืด-ประชาชน “เสียใจรุนแรง อาลัยอย่างสุดซึ้งเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคต เพราะเกิดจากความผูกพันที่ได้สะสมมา

ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง

นายชวนทิ้งท้ายหลักการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตราบนิจนิรันดร์ว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ “รับรู้ เชื่อ แต่ไม่ปฏิบัติ”

“ในหลวงให้องคมนตรีออกไปสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้ผลิตคนเก่งและดี (เน้นเสียงหนัก) พระราชทานทรัพย์ 200 ล้านบาท เรื่องนี้ประชาชนทั่วไปไม่รู้”

คำว่า “คนดี” พระองค์ทรงเคยใช้กับนักกฎหมาย ว่าอยากเห็นนักกฎหมายที่ดี กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ต้องเป็น “ดีแท้” จะเห็นว่าบ้านเมืองนี้มีคนเก่งมาก แต่จะวัดว่าดีแท้หรือไม่ ต่อเมื่อถึงเวลาเกิดวิกฤตและต้องตัดสินใจ ว่าอะไรคือประโยชน์ตัวเองกับประโยชน์ส่วนรวม

ในหลวงต้องการให้คนดีรับผิดชอบบ้านเมือง รับสั่งว่า “บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อยากให้ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง”


ทำงานถวายในหลวงครั้งสุดท้าย

ในจำนวน “จิตอาสาเฉพาะกิจ” ที่ร่วมแรงร่วมใจกันในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั่วประเทศ มีถึง 30 ล้านชีวิต

เฉพาะ จิตอาสาใน กทม.ที่ลงทะเบียนมีมากกว่า 3 แสนคน แยกเป็นงานดอกไม้จันทน์ 57,990 คน งานประชาสัมพันธ์ 30,509 คน งานโยธา 16,545 คน งานขนส่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 8,954 คน งานบริการประชาชน 1612,699 คน งานแพทย์ 16,240 คน งานรักษาความปลอดภัย 12,037 คน และงานจราจร 6,920 คน

ใน จำนวนนั้นมี “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี ขันอาสาทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็นจิตอาสาเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง

“ผมไม่ต่างอะไรจากคน ไทยคนอื่น อะไรที่ทำถวายพระองค์ท่านได้ก็อยากจะทำ ให้ผมไปกวาดขยะ กวาดพื้น ถูพื้นผมก็ทำ เมื่อมีงานผมก็ไปโรงหล่อ เขาปั้นครุฑกันอยู่ ผมมีหน้าที่ไปขูดดิน แต่ตอนหลังหัวหน้า (นายมณเฑียร ชูเสือหึง รักษาการจิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร) เห็นว่าผมมีประสบการณ์”

“หัวหน้าจึงถามว่า ท่านทำได้ไหม จึงให้ผมไปเขียนเทวดา 2 แผ่น แผ่นละ 8 องค์ รวม 16 องค์ ผมเริ่มไปทำสิ่งที่เราถนัด คือการลงสีผิวเทวดา นางฟ้า ครุฑทั้งหมด และลงพื้นผ้านุ่ง ลงสีเหลืองในส่วนมงกุฎและเครื่องประดับสำหรับปิดทองต่อไป”

“จาก นั้นลงลายผ้า ตอนลงลายผ้า ที่ผมคิดอะไรขึ้นมาว่าเทวดา นางฟ้าเหล่านี้คือผู้ที่จะรับเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย เราใส่เครื่องนุ่งห่มของชาวบ้านให้เทวดานางฟ้าใส่ตอนรับเสด็จด้วยได้ไหม ขอผ้านุ่งนางฟ้าให้นุ่งผ้าปาเต๊ะได้ไหมหัวหน้าก็ยอม เรามาคิดต่อว่านางฟ้า เทวดา

อย่านุ่งผ้าปาเต๊ะเลย เอาผ้าที่ชาวบ้านนุ่งดีกว่า เราเอาลายผ้าไทย 4 ภาค โดยค้นลายผ้าที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนในแต่ละภาค ปรากฏว่า เหนือ กลาง อีสาน หาง่าย เพราะชาวบ้านยังทอผ้าอยู่ จึงจะเห็นว่ามีเทวดาองค์หนึ่งนุ่งผ้าขาวม้าลายปักธงชัย ของ จ.นครราชสีมา แต่ภาคใต้หายากที่สุด”

“เป็นโอกาสสุดท้ายก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นงานที่ทำจริงจัง ทุ่มเทให้กับความรู้สึกว่าในหลวงท่านคงเห็น เป็นช่วงสุดท้ายแล้วที่เราทำสิ่งนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงสิ่งสุดท้ายที่เราจะยึดสิ่งที่ในหลวงทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง แต่งานชิ้นนี้เป็นงานเราอุทิศให้พระองค์”

กว่า 3 เดือน ที่ “ชวน” เป็นส่วนหนึ่งในการวาดภาพฉากบังเพลิงที่ใช้ตกแต่งพระเมรุมาศ วันที่ 10 ตุลาคม ถือฤกษ์ 9 โมง 9 นาที นำฉากบังเพลิงแห่มาที่สนามหลวงมาติดตั้งที่พระเมรุมาศ

“เราถือว่าได้ทำงานถวายในหลวงมาตลอดชีวิตการเมืองในแง่ความเป็นนายกฯ นาน 6 ปี แน่นอนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯหลายครั้ง รับสั่งเป็นการส่วนพระองค์บ้าง ได้ฟัง ได้เห็นพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวง ความคิดมองเรื่องประโยชน์ประเทศชาติ ของประชาชน เป็นความรู้สึกในใจทำอะไรถวายต่อพระองค์ได้ก็จะทำ”