นักหนังสือพิมพ์ ในรัชสมัยของพระองค์

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

แม้ตอนเด็ก ๆ จะเคยเห็นในหลวง รัชกาลที่ 9 มาบ้าง แต่เป็นการเห็นแบบไกล ๆ ในต่างจังหวัด ทั้งยังเป็นการเห็นแบบมีความคิดขณะนั้นว่า ในหลวงทรงมาทำอะไรที่นี่ เพราะแถบบริเวณนี้เป็นพื้นที่กันดาร

ดินเป็นกรวดสีแดง

แห้งแล้ง

ไม่มีพืชเกษตรกรรมใด ๆ ขึ้นเลย

นอกเสียจากสับปะรดที่ชาวบ้านปลูกเพื่อขายส่งโรงงานเลี้ยงครอบครัวไปวัน ๆ

แต่หลังจากที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จกลับวังไกลกังวล เพียงไม่นาน พื้นที่แถบบริเวณนั้นเริ่มมีหลายหน่วยงานเข้ามา เริ่มมีชาวบ้านจับกลุ่มพูดคุยกันถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำอะไรสักอย่าง

ซึ่งผมไม่ได้สนใจอะไร

เพราะเราเองมาเที่ยวบ้านป้าที่สามร้อยยอดเพียงช่วงปิดเทอมใหญ่เท่านั้น อีกอย่างอ่างเก็บน้ำก็ไม่ได้ทำให้นึกอยากสนุก เพื่ออยากจะไปตกปลา ผมจึงลืมเรื่องนี้ไปเสียนาน

กระทั่งผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ผมกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อน ๆ ที่เคยเล่นฟุตบอล จึงเอ่ยปากชักชวนผมขี่จักรยานไปเที่ยวโครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยหนองคาง ต.ศาลาลัย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

พวกเขาบอกว่าสวย

เงียบสงบ

ลมเย็นดี

ผมจึงขี่จักรยานไปกับพวกเขา พร้อมกับรับรู้เพิ่มเติมตอนนั้นว่า อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ คือ อ่างเก็บน้ำที่ครั้งหนึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จมา ตอนที่ผมเห็นพระองค์ไกล ๆ คราวนั้นนั่นเอง

จนทำให้ผมคิดในเวลาต่อมาว่าทุก ๆ ครั้งที่พระองค์เสด็จไปตามท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ พอหลังจากพระองค์เสด็จกลับ ความเจริญจะค่อย ๆ หลั่งไหลเข้ามา จนทำให้คุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

และไม่ใช่เฉพาะแต่โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยหนองคาง ต.ศาลาลัย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เท่านั้น หากโครงการพระราชดำริอีกกว่า 4,000 โครงการ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็ล้วนเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์

จนทำให้เกษตรกรต่าง ๆ เริ่มเข้าใจแนวทางพระราชดำริ

กระทั่งผมเอง ที่เมื่อก่อนยุ่งแต่ทำข่าวอื่น ๆ แต่เมื่อไม่กี่ปีผ่านมาต้องรับผิดชอบข่าวที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งยังต้องเดินทางไปยังโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็ยิ่งทำให้ผมประจักษ์ชัดว่า สิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแผ้วถางทางผ่านมา ล้วนเพื่อพสกนิกรของพระองค์ทั้งสิ้น

ผมถึงเข้าใจว่า ห้องทรงงานของพระองค์ไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเท่านั้น แต่ห้องทรงงานของพระองค์กระจายอยู่ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ที่สำคัญ ห้องทรงงานของพระองค์ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เลย ตรงข้ามห้องทรงงานของพระองค์กลับเต็มไปด้วยศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แปลงปลูกข้าวทดลอง แปลงหญ้าแฝก บ่อปลานิล บ่อกบ ฟาร์มโคนม และอื่น ๆ

ที่ทรงศึกษา และทดลองด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมซึมซับตลอดมา นับตั้งแต่เข้ามาทำข่าวซีเอสอาร์ ทั้งยังทำให้ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน เกษตรกรที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

เกษตรกรบางคนบอกว่า เมื่อก่อนเขาไม่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลย แต่เมื่อลงมือศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงเริ่มเข้าใจ พร้อมกับเปลี่ยนความคิด จากการทำเกษตรแบบเดิม ๆ โดยหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่

จากที่เคยเป็นหนี้หลายแสน หลายล้านบาท แต่ตอนนี้เขาสามารถปลดหนี้ สามารถสร้างความสุขในครอบครัวให้กลับคืนมา ที่สำคัญ เขาได้ลูก หลาน กลับมาช่วยทำมาหากินด้วย จนทำให้เศรษฐกิจภายในครอบครัวเติบโตขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นผลโดยตรง จากการน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่พสกนิกรทั่วประเทศต่างหลั่งไหลกันเดินทางมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมผ่านมา

พวกเขาต้องการมาร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยตัวเอง

พวกเขามาด้วยหัวใจ

มาด้วยคราบน้ำตา

และรอยอาลัยรักต่อพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา

ซึ่งต่างกับผม ที่ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย เพราะต้องเข้าเวรหน้า 1 ในวันนั้นพอดี แต่กระนั้น ในบทบาท และหน้าที่ของการทำภารกิจหน้า 1 ก็มีส่วนร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยในหลวง รัชกาลที่ 9 เฉกเช่นกับทุกคน

ผมค่อย ๆ ฟังข่าว

ติดตามพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง

เลือกรูปกับเพื่อน ๆ ที่เข้าเวรด้วยกัน เพื่อใช้สำหรับฉบับหุ้มปก, หน้า 1 และหน้า 3 ไปจนถึงเขียนในคอลัมน์นี้

“ผมทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์แล้ว…ในฐานะนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง…ที่เกิดในรัชสมัยของพระองค์”