ต้องยอมรับความจริงว่าหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างประสบปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ ทั้งอาจเกิดจากสภาพธรรมชาติโดยรวมของพื้นที่ หรือการใช้ดินอย่างไม่ถูกต้องตามแนวทางของการทำเกษตรอย่างถูกวิธี
ซึ่งเหมือนกับ “บ้านฮูแตทูวอ” หมู่ที่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินทราย ดินเปรี้ยว เพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล นอกจากแค่ปลูกปาล์ม และมะพร้าว ผลเช่นนี้
จึงทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน บางส่วนไปทำงานในเมือง จนทำให้เกิดปัญหาครอบครัว
แต่เมื่อมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ามาในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชุมชน เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา เมื่อปี 2558 ผลสัมฤทธิ์ทุกอย่างจึงค่อย ๆ ดีขึ้น
“ฮารน เงาะ” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านฮูแตทูวอ หมู่ที่ 4 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านเรามีประชากร 1,642 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร เลี้ยงสัตว์ และประมง ส่วนแม่บ้านก็จะประกอบอาชีพเสริมด้วยการทำเครื่องจักสาน เสื่อกระจูด ย่านลิเภา และทำเรือกอและจำลอง
“ที่ผ่านมาหมู่บ้านของเราประสบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในการทำเกษตร หรือขาดเครื่องมือในการทำประมง และคนที่ทำอาชีพประมงส่วนใหญ่มักเป็นคนสูงอายุ ส่วนคนหนุ่มจะออกไปรับจ้างในต่างประเทศ ผู้หญิงก็จะรับจ้างรายวันเพื่อทำงานหัตถกรรมต่าง ๆ ยิ่งหน้ามรสุมทุกคนจะว่างงาน ไม่มีอาชีพอะไรรองรับเลย”
“กระทั่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้ามาให้ความรู้ พร้อมกับชักชวนพวกเราไปอบรมหาความรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งในภาคเหนือ และภาคอีสาน ผมจึงเกิดความคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว อันดับแรกเลยคือต้องซ่อมแซมบ่อเจาะน้ำบาดาลที่มีปัญหาทรายอุดตันในบ่อเครื่องปั๊มน้ำบาดาล จากนั้นเราก็มาคุยกับ ลุงสมาน ผ่านพรม ปราชญ์ชาวบ้าน ให้มาช่วยอบรมชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาดินทราย และดินเปรี้ยว”
“เราเริ่มต้นทดลองที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนก่อนประมาณ 4 ไร่ แรก ๆ ไม่ค่อยได้ผล แต่พอเรานำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อดีขึ้น เราจึงจัดสรรล็อกเพื่อทำการเกษตรให้กับชาวบ้านอาสา เพราะเราไม่มีค่าจ้าง เราให้พวกเขาคนละล็อก ล็อกหนึ่งตกประมาณ 12×18 ตารางวา เพื่อให้พวกเขาทดลองปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ จนตอนนี้ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น”
“สมาน ผ่านพรม” ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวเสริมว่า ผมมาจากทางอีสาน แต่มาอาศัยเติบโต มีครอบครัวในพื้นที่พระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมจึงมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และอย่างที่ผู้ใหญ่บ้านบอก พื้นที่โดยรวมเป็นทราย และดินเปรี้ยว ส่วนตัวผมเองศึกษาศาสตร์พระราชามานานแล้ว ผมเริ่มทดลองจากที่ดินของตัวเอง ด้วยการปรับปรุงดินก่อน โดยใช้ปูนขาว ปุ๋ยหมัก อินทรียวัตถุเข้ามาช่วยทำให้ดินคืนสภาพ
“ผมเริ่มทำจากพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน ก็ปลูกผักสวนครัวทุกชนิด ต่อมาจึงปลูกผักสลัด จนตอนหลังเริ่มปลูกเมล่อน พันธุ์เนื้อส้ม และตอนนี้ผมเริ่มทดลองปลูกพันธุ์คิโมจิ ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว พูดง่าย ๆ หลังจากเรานำศาสตร์พระราชามาปรับสภาพดิน เราแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้แล้ว คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้นทันที คนจากในเมืองมาซื้อสินค้าของเราจนไม่พอขาย”
“พอเราทำอย่างนี้ให้ชาวบ้านเห็น และชาวบ้านเขารับรู้ว่าเราแก้ปัญหาได้ เราก็นำความรู้เหล่านี้มาอบรมให้พวกเขา และตอนนี้ผู้ใหญ่บ้านพยายามขยายพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้มากขึ้น เพราะเป้าหมายของเราต้องการช่วยเหลือคนหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย ตอนนี้กำลังเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งแม้จะไม่ร่ำรวย แต่เราสามารถดำเนินชีวิตพออยู่ พอกิน พอเพียง แถมยังมีเงินเหลือเก็บ ที่สำคัญ ลูกหลานเริ่มกลับคืนถิ่นกันบ้างแล้ว”
“อับดุลฮาดี ภารตกฤตยาพันธ์” รักษาการหัวหน้ากลุ่มศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน กล่าวเสริมว่า หมู่บ้านฮูแตทูวอมี 3 โซน ได้แก่ โซนนิคม, โซนนครหลวง และโซนชายทะเล แต่พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนอยู่โซนนิคม ที่พวกเรานำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ด้วยการทำแปลงตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านเรียนรู้ และพร้อมจะขยายผลไปยังแปลงอื่น ๆ
“เราร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเลี้ยงสัตว์ จนทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นเรื่อย ๆ เราวางแผนว่าเมื่อศูนย์การเรียนรู้ประสบความสำเร็จ จะขยายผลต่อในการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย ซึ่งตอนนี้มีคนจากหมู่บ้านอื่น ๆ เข้ามาเรียนรู้บ้างแล้ว และเราพยายามทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อมาด้วย”
อันเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในที่สุด