พักรบ OTT ต่อเวลา…สื่อโฆษณาออนไลน์

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

สร้างความสับสน งุนงง ให้แก่อุตสาหกรรมโฆษณาสื่อดิจิทัลอีกระลอก ล่าสุด (5 ก.ค. 2560) การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ (OTT : Over the Top) ออกไปก่อน

นั่นหมายถึงกำหนดเส้นตายที่ให้ผู้ให้บริการ OTT จะต้องมาลงทะเบียนวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะถูกเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าหลักเกณฑ์กำกับดูแลจะประกาศใช้ (อีกครั้ง)

ทั้ง ๆ ที่ประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นกระแสสุดร้อนแรงตลอดสัปดาห์ก่อน ด้วยท่าทีที่สุดขึงขังของ กสทช. ที่ห้ามเอเยนซี่โฆษณา สินค้า ลงโฆษณากับผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่ได้ลงทะเบียนหลังวันที่ 22 ก.ค. 2560 และหากฝืนจะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

สร้างแรงกระเพื่อม และอลหม่านให้แก่วงการโฆษณาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาทันทีที่มีมติยกร่างดังกล่าวออกไปก่อน ศุภชัย ปาจริยานนท์Ž นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า หลังจากที่มีมติยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ออกไปก่อน ก็ลดความกังวลและความสับสนของอุตฯไปได้ระดับหนึ่ง สะท้อนว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับอุตฯสื่อดิจิทัล ถือเป็นสัญญาณที่ดี

ขณะเดียวกัน สเต็ปถัดไป เชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องกับอุตฯ จะมีเวลาในการเจรจา พูดคุยกันมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย ผ่านเวทีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นสาธารณะที่จะมีขึ้นตามกรอบเวลาที่ กสทช.กำหนด

อย่างไรก็ตาม สมาคมก็พร้อมจะเป็น ตัวกลางŽ พูดคุยให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต้อง Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน เช่น ผู้สร้างแพลตฟอร์ม ผู้พัฒนาคอนเทนต์ (Creator Content) ก็ต้อง Win เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ ซึ่งทุกอย่างต้องเติบโตด้วยกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เพราะถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งหายไป เอเยนซี่โฆษณาซึ่งเป็นตัวกลางก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ศุภชัยŽ กล่าวถึงความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า เมื่อผู้ประกอบการ OTT มาลงทะเบียนแล้ว จะได้หรือไม่ได้ประโยชน์อะไร และจะเกิดผลดีผลเสียแก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมอย่างไร สร้างคำถามหนาหูให้เกิดขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ก่อน

ขณะเดียวกัน กสทช.ก็สร้างความตกใจให้แก่อุตฯอีกรอบ เมื่อมีคำสั่งห้ามเอเยนซี่ สินค้า ลงโฆษณากับผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่ได้มาลงทะเบียนหลังวันที่ 22 ก.ค. 2560

ตอนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับการเดินหน้าเจรจาของทุก ๆ ฝ่าย ซึ่ง กสทช.จะมีการทำประชาพิจารณ์ ถือเป็นอีกเวทีสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เอเยนซี่ ลูกค้า ผู้พัฒนาคอนเทนต์ จะได้เข้าไปแชร์ข้อมูล ให้มุมมอง สะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้น คาดว่าหากผ่านเวทีนี้ไปบรรยากาศและสัญญาณทุกอย่างก็จะดีขึ้นเช่นกันŽ

ก่อนหน้านี้ สายใย สระกวีŽ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย บอกว่า ยูทูบต้องการความชัดเจนกรณี กสทช.กำหนดให้ยูทูบเข้าลงทะเบียน OTT ว่าจะมีผลอย่างไร และทาง กสทช.ต้องการอะไร ทั้งนี้ สำนักงานสิงคโปร์อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอยู่

ที่ผ่านมา ยูทูบเสียภาษีออนไลน์ที่กำหนดให้ผู้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเอเยนซี่โฆษณาใช้วิธีการซื้อสื่อโฆษณาต่างประเทศแทน ในทางกลับกันกลุ่มครีเอเตอร์คอนเทนต์ไทยจะสูญเสียรายได้Ž

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) คาดการณ์การใช้งบฯผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลปีนี้ว่า จะมีมูลค่า 11,774 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท และที่สำคัญเมื่อแยกเป็นตัวเลขรายได้โฆษณาจากกลุ่มผู้ให้บริการ OTT สูงถึง 5,007 ล้านบาท แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 2,842 ล้านบาท ยูทูบ 1,663 ล้านบาท และอื่น ๆ เช่น ไลน์ทีวี และผู้ประกอบการช่องทีวี 502 ล้านบาท


เรียกว่า ความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ป่วนวงการเอเยนซี่โฆษณาและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้ไม่น้อย