ทุเรียนชุมพรรายได้กระฉูดปีละ 6,000 ล้าน

คอทุเรียนเฮต่อ เมืองชุมพรให้ผลผลิตเกือบ 1.3 แสนตัน ออกสู่ตลาดเยอะเดือนมิถุนายน-ตุลาคม สร้างรายได้เข้าจังหวัดกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ผู้ว่าฯ เข้มงัดกฎหมายลงโทษคนค้าทุเรียนอ่อน หวั่นทำลายตลาดส่งออก ด้านเกษตรจังหวัดเร่งปั้นมาตรฐาน GAP ทุเรียน

นายณรงค์ พลละเอียด ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ มีเนื้อที่ปลูกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งข้อมูลปี 2560 จังหวัดชุมพรมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 164,099 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 114,572 ไร่ ประมาณการผลผลิตมีจำนวน 128,894 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจายตัวเกือบทั้งปี สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และเกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบกับช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนในตลาดภายในและส่งออกมีราคาสูงมาก จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จังหวัดชุมพรมักประสบปัญหาเรื่องการตัดทุเรียนอ่อน เนื่องจากมีการออกดอกหลายรุ่นในต้นเดียวกัน เกษตรกรขาดความชำนาญในการตัด และราคาทุเรียนต้นฤดูกาลมักจะแพง เกษตรกรจึงรีบตัดทั้งที่ยังสุกไม่ได้ที่ เพื่อให้ขายได้ราคา

นอกจากนี้ ยังมีทุเรียนอ่อนจากต่างจังหวัดปะปนมาในพื้นที่จังหวัดชุมพรด้วย เนื่องจากมีโรงคัดบรรจุผลไม้ แผงร้านค้า พ่อค้าต่างถิ่น ได้รวบรวมทุเรียนจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ มาคัดแยกคุณภาพ เพื่อส่งออกต่างประเทศ หรือส่งไปจังหวัดต่าง ๆ เพื่อบริโภคภายในประเทศ

“ทุเรียนอ่อนมักพบวางขายตามแผงค้าผลไม้ริมทาง หากมีการส่งทุเรียนอ่อนไปต่างประเทศจะมีผลทำให้ราคาทุเรียนทั้งระบบตกต่ำ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของจังหวัดและของประเทศ โดยในฤดูกาลผลิตปี 2560 ทุเรียนจะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2560 จังหวัดจึงต้องมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายทุเรียนอ่อนในจังหวัดโดยเด็ดขาด

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย ทุเรียนอ่อน ได้แก่ 1.มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดไว้ ดังนี้ ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง มีน้ำหนักแห้ง ขั้นต่ำร้อยละ 27 พันธุ์ชะนี มีน้ำหนักแห้งขั้นต่ำ ร้อยละ 30 พันธุ์หมอนทอง มีน้ำหนักแห้งขั้นต่ำ ร้อยละ 32, พันธุ์พวงมณี มีน้ำหนักแห้งขั้นต่ำ ร้อยละ 30

ด้านนายไพสิฐ เกตุสถิตย์ เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุทกภัยเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาจำนวน786ไร่จังหวัดได้รับอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ พืชสวน อัตรา 1,690 บาท/ไร่ โดยครั้งที่ 1 อนุมัติแล้ว 471,388.84 บาท ครั้งที่ 2 อนุมัติ 2,511,290.18 บาท

สำหรับการประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้มีเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดจังหวัดชุมพร ประมาณการผลผลิตและการกระจายผลผลิตไม้ผลจังหวัดชุมพร ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายทุเรียนอ่อน เกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียน โดยวิธีการอบหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง การจัดระเบียบใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการล้งผลไม้จังหวัดชุมพร


ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจคุณภาพจังหวัดชุมพร จัดอบรมผู้ประกอบการแผงทุเรียน ติดป้ายประชาสัมพันธ์แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP พืชทุเรียน จำนวน 114 รายด้วย