จีนโดนลดเรตติ้งครั้งแรกรอบ 30 ปี ต้องตกใจไหม ?

คอลัมน์นอกรอบ โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร อรกันยา เตชะไพบูลย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

หลังจาก Moody′s Investors Service ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้จีนประเภทระยะยาวในสกุลเงินหยวน และสกุลเงินต่างประเทศจาก Aa3 ลงสู่ A1 เมื่อ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และเป็นเรื่องน่าห่วงหรือจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจมากไหม

Moody′s ให้สาเหตุของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ว่า มาจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบการเงินจีน และความสามารถของทางการจีนที่จะควบคุมความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ควบคู่กับรักษาเสถียรภาพของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

ในทางกลับกันการลดปริมาณหนี้อาจส่งผลลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยจากการคำนวณของBloomberg พบว่า สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของจีน ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 260 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 160 ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสัดส่วนหนี้ต่อเศรษฐกิจจีนที่สูง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่จีนตระหนักรู้นานแล้ว และมีมาตรการออกมาเป็นระยะ เพื่อลดการปล่อยกู้ เพิ่มคุณภาพหนี้ และควบคุมความเสี่ยงในภาคการเงิน เช่น การคุมเข้มธุรกรรม Shadow Banking และการเข้มงวดกับสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกรรมในลักษณะ Wealth Management Products หรือ WMPs

แต่แม้ Moody′s จะปรับอันดับความน่าเชื่อถือลง แต่อันดับความน่าเชื่อถือ A1 ก็ยังถือว่าอยู่ในขั้นที่ค่อนข้างสูง

พร้อมกันนี้ได้ปรับแนวโน้ม Outlook จาก Negative สู่ Stable สะท้อนมุมมองของ Moody′s ว่า ในระยะกลางช่วง 3-6 เดือนที่จะถึงนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีน หรือเสถียรภาพของภาคการเงินในจีนที่จะทำให้ตกอกตกใจ ปัญหาหนี้ของทางการจีนจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเมื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนคืบหน้า ปัญหาหนี้ก็จะอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ ประกอบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังดี จะช่วยให้มีช่องว่างในการใช้นโยบายเพื่อบรรเทาความเสี่ยงในภาคการเงินได้

หลังการประกาศ ตลาดก็มีการตอบสนองเล็กน้อย แบบที่สะท้อนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความกังวลเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐประมาณร้อยละ 0.1 และดัชนี Shanghai Shenzhen CSI 300 ปรับตัวลดลงเช่นกันประมาณร้อยละ 1 แต่ก็กลับมาปิดตลาดเป็นบวกได้เมื่อสิ้นวัน และเป็นบวกต่อเนื่องในวันถัดมา อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนระยะ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ปรับเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบ 2 ปี สะท้อนต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในจีนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งทางการจีนก็ต้องการให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นบ้างอยู่แล้ว เพื่อควบคุมการกู้ยืมไม่ให้ขยายตัวสูงจนเกินไป

ทางการจีนดูเหมือนว่าจะไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนได้ออกมาตอบโต้ว่าMoody′sได้พิจารณาจากข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้คำนึงถึงมาตรการควบคุมความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ในระดับสูงที่ทางการจีนกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ รวมทั้งให้น้ำหนักกับปัญหาหนี้มากเกินไปในการประเมิน

ในความเป็นจริง พื้นฐานเศรษฐกิจของจีน ทั้งแนวโน้มอัตราการขยายตัวและเสถียรภาพ เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในไตรมาส 1 ปี 2560 ขยายตัวได้ร้อยละ 6.9 อยู่เหนือเป้าหมายที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งทางการจีนประกาศไว้เมื่อต้นปี 2560 อัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับต่ำ แรงกดดันเงินทุนไหลออกลดลง ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ของจีนเป็นความท้าทายของการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศ มากกว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในระบบการเงินเป็นวงกว้าง เนื่องจาก 1) หนี้ส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจจีน กว่าครึ่งเป็นของทางการจีน หรือรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 2) หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ 3) การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้า-ออกจีน ยังอยู่ใต้การควบคุมของทางการจีนเป็นส่วนใหญ่ และช่วงที่ผ่านมาแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกลดลงตามมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น

4) อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของทางการจีน ยังต้องเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามนโยบาย ซึ่งจะมีการประกาศค่ากลางรายวันและปล่อยให้ค่าเงินหยวนเปลี่ยนแปลงไม่เกินร้อยละ 2 จากค่ากลางประจำวัน และตั้งแต่ต้นปี 2560 ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น 5) สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในพันธบัตรของจีนมีอยู่น้อย และที่สำคัญ 6) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนยังมีปริมาณมากที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนมีนาคม 2560 และมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่แม้พื้นฐานเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อารมณ์ของตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นจะมีการปรับลดตามหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไร

สำหรับโอกาสที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นจะปรับลดลงก็มีความเป็นไปได้เนื่องจากS&Pได้ให้Outlook ของจีนเป็น Negative ไว้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นปี 2559 ประกอบกับในวันถัดมาคือวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 Moody′s ก็ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงลงตามจีนจาก Aa1 ลงสู่ Aa2 และปรับ Outlook จาก Negative สู่ Stable ซึ่งนับเป็นการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งแรกในรอบ 20 ปีของฮ่องกง

แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเศรษฐกิจของฮ่องกงมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนสูง โดยเฉพาะในภาคการเงินตั้งแต่ปี 2557 และช่วงกลางปี 2560 นี้จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรในจีนได้

ดังนั้น เพื่อตอบคำถาม ต้องตกใจไหม เมื่อจีนโดนลดเรตติ้งครั้งแรกในรอบ 30 ปี คำตอบก็คือ ยังไม่ต้องตกใจ เพราะทางการจีนพยายามแก้ไขอยู่ และในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า Moody′s ยังมองว่าเศรษฐกิจจีนและภาคการเงินจะยังไม่มีอะไรน่าตกใจเกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ พื้นฐานเศรษฐกิจจีนโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาหนี้ค่อนข้างจำกัดอยู่ในประเทศ แต่อาจจะต้องตกใจหากมีการปรับลดอันดับจากสถาบันอื่นตามมา และทำให้บรรยากาศในตลาดและความเชื่อมั่นนักลงทุนปั่นป่วน