จาก ร.๙ ถึง ร.๑๐ สู่ผองไทยทั่วแหล่งหล้า สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา

ตลอดช่วงเวลากว่า 4 ทศวรรษที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในด้านต่าง ๆ อย่างทรงพระวิริยะ เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ พระองค์ทรงมุ่งมั่นสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ปวงประชาชนชาวไทยสืบไป
 
น้ำคือชีวิตแผ่นดิน
 
พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาให้เกิดแหล่งเกษตรกรรม ได้ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จาก 1 เป็น 10 จาก 10 เป็น 100 และทวีจำนวนเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกพันกว่าโครงการ
 
พระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ถ่ายทอดมายังพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยประชาชนดุจเดียวกัน ในช่วงที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงเรียนรู้หลักการทรงงานเรื่องน้ำของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และในยามโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง พระองค์ได้ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการบรรเทาปัญหาด้านดินและน้ำอยู่เสมอ
 
นับแต่เสด็จขึ้นทรงราชย์ พระองค์ทรงมุ่งมั่นทรงงานสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถในด้านน้ำ
 
ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างทั่วถึง โดยทรงพระกรุณาให้ดำเนินการช่วยแก้ปัญหาน้ำที่ราษฎรถวายฎีกาไว้ ดังเช่น โครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ส่งผลช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ 2,000 ไร่ เพื่อให้การทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ของชาวบ้านได้ผลดียิ่งขึ้น
 
ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้หาวิธีการเพิ่มน้ำด้วยการเก็บกักน้ำลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสัก โดยสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์แล้ว และด้วยน้ำพระราชหฤทัยในความห่วงใยราษฎรอย่างเปี่ยมล้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามดูแลและต่อยอดโครงการดังกล่าว โดยจัดระบบเครือข่ายน้ำให้ส่งต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎร นับ 1,000 ครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง
 
จากต้นทางการทรงงานบรรเทาปัญหาน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานที่จะรักษาสายน้ำให้คงเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของอาณาประชาราษฎร์สืบไป
 
พิทักษ์ป่าพัฒนาสินสายน้ำ
 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งในกลวิธีของการจัดหาน้ำประสานไปกับการรักษาน้ำและความชื้นไว้ในดินให้นานที่สุด เพื่อช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมอย่างได้ผล โดยสัมพันธ์กับลักษณะพื้นที่
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไว้หลายแนวทาง ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ระบบป่าเปียก และการรักษาหน้าดินเก็บความชุ่มชื้นด้วยหญ้าแฝก ตลอดจนพระราชดำริการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ที่โครงการศึกษาฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” และ “การปลูกป่าในใจคน”
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิริยอุตสาหะในการศึกษาแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถด้วยตั้งพระทัยมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานเพื่อบรรเทาปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎร โดยเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกเรื่องน้ำ สอดคล้องกับการฟื้นฟูและปลูกจิตสำนึกรักษาป่า ดังแนวทางที่ทั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงวางไว้
 
ผลสัมฤทธิ์อันน่าปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ปรากฏจากเมื่อครั้งที่พระองค์ได้มีพระราชดำริในปี พ.ศ. 2543 ให้ขุดลอกหนองอึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ 450 ไร่ ที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เพื่อเป็นแหล่งรับน้ำเก็บน้ำป้องกันยามเกิดอุทกภัย และเป็นน้ำทำการเกษตรในหน้าแล้ง พร้อมกับให้ฟื้นฟูป่าไม้ในรอบพื้นที่ ณ ปัจจุบัน ผืนป่านั้นได้เติบโตเป็นป่าชุมชนดงมัน ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันพื้นฟูดูแลป่าให้งอกงามเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ และได้ช่วยกันทำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
พืชพรรณ ปลูกชีวิตมั่นคง
 
ดินแดนเกษตรกรรมเช่นประเทศไทย สุขใดไหนจะเท่าความอุดมสมบูรณ์และความกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึง ความชื่นพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทอดพระเนตรต้นข้าวขึ้นงอกงามในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นดินเปรี้ยวเสื่อมโทรมในภาคใต้ ซึ่งผ่านการแก้ไขปัญหาด้วยแนวพระราชดำริแกล้งดิน จึงมีความหมายมากกว่าเพียงผลสำเร็จของโครงการ หากแต่หมายถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเลี้ยงชีวิต และยังเป็นประจักษ์พยานถึงการทรงงานนับแรมปีในเรื่องข้าว ทั้งการทรงสนับสนุนให้ปลูกอย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และโปรดให้นักวิชาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจนข้าวไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และสร้างรายได้เลี้ยงประเทศ เช่นเดียวกับพืชเมืองหนาวนานาพันธุ์ที่มาทดแทนไร่ฝิ่น และเกิดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ตลอดจนกาแฟอราบิก้า พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อีกชนิดหนึ่ง ล้วนแต่เกิดจากพระปรีชาสามารถและพระเมตตาต่อราษฎรผู้ยากไร้ ที่สำคัญแนวคิดในการปลูกพืชพรรณเพื่อสร้างชีวิตเหล่านี้ เป็นประหนึ่งคำสอนให้หน่วยราชการและชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้เรียนรู้เพื่อยึดเป็นแนวทาง
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเล็งเห็นในความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสำคัญของข้าว พืชอันเป็นหัวใจหลักของประเทศ ยิ่งกว่านั้นทรงสืบสานสร้างความมั่นคงด้านอาชีพเกษตรกรรมต่อยอดจากการทรงงานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ
 
เมื่อปี พ.ศ. 2549 พระองค์ได้พระราชทานพื้นที่ส่วนพระองค์จำนวน 1,350 ไร่ ณ บ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม ได้พระราชทานชื่อไว้ว่า “เกษตรวิชญา” อันหมายถึง “ปราชญ์แห่งการเกษตร” ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นคลินิกเกษตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วย
 
ฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ รวมทั้งแปลงสาธิตปลูกพืชเมืองหนาว สร้างรายได้ และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เกษตรกร ในขณะเดียวกัน พื้นที่ป่าโดยรอบนั้น ชาวบ้านก็ได้รับการปลูกฝังให้ร่วมกันฟื้นฟูดูแลให้เป็นธนาคารอาหารชุมชน รวมถึงเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหารในป่าและสมุนไพรอย่างคุ้มคุณค่า
 
บนผืนแผ่นดินไทย จากดอยสูงจรดปลายน้ำ จนถึงมหาสมุทร เมล็ดพันธุ์แห่งพระเมตตาและความรักในผืนแผ่นดินไทย ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้พระราชทานไว้จะเติบโตและงอกงามในพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้การเกษตรกรรมเป็นองค์ความรู้สำคัญเสริมสร้างชีวิตอาณาประชาราษฎร์ให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
 
เศรษฐกิจพอเพียงนำทางชีวิต
 
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีวิตให้แก่คนไทยทุกระดับชั้น จนถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ทรงคุณค่ายิ่ง เริ่มตั้งแต่ราษฎรต้องสามารถพึ่งตนเองได้ก่อน และดำรงชีวิตอยู่ในกรอบของความพอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองโดยใช้สติปัญญา เสริมด้วยความรู้
 
เคียงคู่การมีคุณธรรม พร้อมกันนั้นได้พระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรกรรมตามแนวทางพอเพียงด้วยการบริหารจัดการที่ดินและน้ำอย่างรอบคอบให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
70 ปีแห่งการทรงครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง มาหลายครั้ง ซึ่งแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นแสงแห่งปัญญาส่องนำคนไทยมาตลอด
 
เช่นกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงยึดแนวพระราชดำริในพระบรมชนกนาถ “ประชาชนพึ่งตนเองได้” และ “การสร้างความเข้มแข็งจากชุมชนเป็นการระเบิดจากข้างใน”
 
ณ พื้นที่บริเวณคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10 ของทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเอกสารสิทธิแก่เกษตรกรในโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถได้มีพระราชประสงค์ไว้
 
พื้นที่แห่งนี้ประสบภาวะวิกฤตอุทกภัยมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ท่ามกลางความท้อแท้ยังมีความหวัง ชุมชนบริเวณนี้ได้ร่วมกันบริหารจัดการพื้นที่แก้ปัญหาอุทกภัยตามแนวพระราชดำริแก้มลิงจนสามารถสร้างตนเองเป็นชุมชนเข้มแข็ง
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดตามเรื่องการรวมตัวของชุมชนคลองรังสิตแห่งนี้ จากที่ดินที่พระองค์ได้พระราชทานครั้งนั้น ในวันนี้เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักอย่างดียิ่งในคุณค่าแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตามแนวทางทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ทรงมุ่งมั่นจะยึดแนวพระราชดำรินี้เป็นแสงส่องนำทางตามรอยพระราชปณิธาน เพื่อสืบสานต่อยอดช่วยเหลือให้ปวงประชาเข้มแข็ง พระราชทานความสุขให้กลับคืนสู่ผืนแผ่นดินไทยอย่างมั่นคงสถาวร