ราชบัณฑิตฯ เปลี่ยนคำถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็น “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี”

สำนักงานราชบัณฑิตยสภาแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้ถ้อยคำถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ แทนถ้อยคำเดิมที่ใช้ “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” เปลี่ยนเป็น “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี”

โดยมีเนื้อความในข่าวว่า

เนื่องจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้คำถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ จากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ โดยสอบถามจากคุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ ตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ ๙ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้รับคำอธิบายว่า

ตามที่เคยใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ให้มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน มาโดยตลอดนั้น ในปัจจุบันเพื่อความเหมาะสม กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เห็นว่าหากประสงค์จะถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษาบาลี ควรใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี”

คำว่า “นาถปรมราชินี” (อ่านว่า นา-ถะ-ปะ-ระ-มะ-รา-ชิ-นี) นั้น คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ ได้ขอความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาบาลีทั้งพระภิกษุและอาจารย์ผู้สอนภาษาบาลีแล้วเห็นว่า คำที่เหมาะสมที่จะใช้ต่อท้ายคำว่า “ทีฆายุกา โหตุ” แทนคำว่า “มหาราชินี” ควรใช้คำว่า “นาถปรมราชินี” เพื่อให้หมายถึง “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” และกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เห็นพ้องด้วยว่าควรใช้ว่า “ทีฆายุกา โหตุ นาถปรมราชินี” ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดทำคำถวายพระพรต่อไป

ส่วนคำถวายพระพรชัยมงคลอย่างสั้นซึ่งเคยใช้ว่า “ทรงพระเจริญ”, “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน” เป็นต้น ยังคงใช้ได้ตามที่เคยใช้กันมา หรือหากประชาชนจะพิจารณาเลือกสรรถ้อยคำอื่นใดที่เห็นเหมาะสมเพื่อสื่อความหมายในการเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ก็สามารถพิจารณาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมแก่พระเกียรติยศได้เช่นกัน

ในการนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจึงขอนำความคิดเห็นของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ จากการถ่ายทอดของคุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์ มาชี้แจงเพื่อความชัดเจนและความเข้าใจอย่างถูกต้องร่วมกัน