สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดงานเมาลิดกลาง ปีฮิจเราะห์ศักราช 1440

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 3 เมษายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440” ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ โดยมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 นายอนันต์ วันแอเลาะ ประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยฯ พร้อมคณะกรรมการจัดงานฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ

จากนั้น เสด็จฯ เข้าสู่ที่ประทับภายในศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติฯ ประทับพระราชอาสน์ บนเวที นายอัมรินทร์ มีสุวรรณ ประธานฝ่ายหนังสืออนุสรณ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 นายดิเรก วันแอเลาะ เลขานุการคณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยฯ

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย นายปรานนท์ มุสตาฟา ผู้ชนะเลิศการทดสอบกอรี ในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1439 อัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นายปริญญา ก้อพิทักษ์ ผู้แทนคณะกรรมการจัดงานฯ ให้ความหมายภาษาไทย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กราบบังคมทูลชีวประวัติของบรมศาสดามุฮัมหมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยสังเขป นายอนันต์ วันแอเลาะ ประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1440 กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ นายดิเรก วันแอเลาะ เลขานุการคณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 กราบบังคมทูลเบิก นายฮาฤทธิ์ พวงมณี ผู้ชนะเลิศการแข่งขันทดสอบกอรี ประเภททั่วไปชาย และ นางสาวการีมะห์ หะยีบาราเฮง ผู้ชนะเลิศการแข่งขันทดสอบกอรี ประเภททั่วไปหญิง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ ขอพระราชทานพระราชดำรัสเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ตามลำดับ

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโล่เกียรติคุณ จำนวน 130 ราย และพระราชทานพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“ตามที่ได้รายงานให้ทราบถึงชีวประวัติของท่านศาสดามุฮัมมัด โคยเฉพาะ ในข้อที่ว่า ท่านสามารถดำเนินชีวิตและประกอบกรณียกิจได้อย่างสมบูรณ์ ในสังคมที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์นั้น นับว่ามีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นแบบอย่างอันประเสริฐของการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ดังนั้น หากชาวไทยมุสลิมทุกคน จะได้น้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านศาสดามุฮัมหมัดในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการตั้งใจศึกษาหลักธรรมคำสอนของท่านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เเละถูกตรง แล้วน้อมนำมายึดถือปฏิบัติในการดำรงชีวิตอย่างเคร่งครัดและจริงใจแล้ว ก็จะเป็นทางหนึ่งในการเเสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านอย่างดีที่สุด เเละส่งเสริมให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญในชีวิต ตลอดจนอยู่ร่วมกับทุกคน ทุกเชื้อชาติศาสนา ได้อย่างผาสุกร่มเย็น ตลอดไป”

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ ณ ที่เดิม นายวีรยุทธ มังประเสริฐ ประธานฝ่ายพิธีการศาสนา อ่านบทสดุดีพระเกียรติคุณบรมศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นภาษาอาหรับ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี นำกล่าวขอพร (กล่าวดุอาอ์) ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นภาษาอาหรับ พร้อมการประสานเสียงจากคณะกรรมการอิสลามและอิหม่ามประจำมัสยิดต่างๆ (ทรงยกพระหัตถ์ ตามจุฬาราชมนตรี และทรงยืน เมื่อทุกคนในห้องประชุมยืนขึ้น) จากนั้น เสด็จฯ ออกจากที่ประทับ ไปยังบริเวณจัดงานนิทรรศการฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “ศาสดามุฮัมหมัด ผู้ยืนหยัดในสัจธรรม ผู้นำการปฏิรูปสังคม” ตามพระราชอัธยาศัย

การนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ที่มารอเฝ้าฯ ส่งเสด็จ และเสด็จกลับ

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์